สมาคมไทรับสร้างบ้าน ระบุ ไตรมาส 3 ตลาดรวมหดตัว 10% หลังลูกค้าชะลอสร้างบ้าน เพราะกังวลปัญหาน้ำท่วม ด้านผู้ประกอบการเบรกรับงานใหม่เพิ่ม เหตุสต๊อกงานเก่าค้างส่งมอบ-งานก่อสร้างยังเคลียร์ไม่หมด ขณะต้นทุนแรงงาน วัสดุก่อสร้างปรับตัวสูง ส่งผลต้นทุนบ้านใหม่กระทบงานก่อสร้างสต๊อกบ้านเดิม คาดทั้งปีตลาดรวมมูลค่าไม่เกิน 10,000 ล้านบาท
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THCA) กล่าวว่า จากการสำรวจความเห็นสมาชิกสมาคมฯ ทั่วประเทศ พบว่า ไตรมาส 3 ปีนี้ ปริมาณ และมูลค่ายอดจองสร้างบ้านในกลุ่มสมาชิกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ปรับตัวลดลง จากไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา 10% เนื่องจากความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาน้ำจะท่วมซ้ำ และผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก ทั้งสองปัจจัยมีผลทำให้กำลังซื้อ หรือความต้องการสร้างบ้านหลังใหม่ชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม หากแยกตามรายภูมิภาค พบว่า ยอดจองสร้างบ้านในพื้นที่ภาคกลางมีสัดส่วนสูงสุด โดยมีส่วนแบ่งตลาดรวมอยู่ 25% ขณะที่ภาคอีสานมีส่วนแบ่งตลาด 22% ภาคเหนือมี 21% และภาคใต้ มีส่วนแบ่งอยู่ 10% สำหรับยอดจองสร้างบ้านในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งมีสัดส่วนเป็นอันดับ 1 นับเป็นครั้งแรกในรอบปีนี้ โดยพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกสร้างบ้านในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และหัวหิน
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ยังพบว่าการแข่งขันของผู้ประกอบการไม่รุนแรงเหมือนทุกปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่เป็นช่วงฤดูขาย ทั้งนี้ สาเหตที่ทำให้การแข่งขันลดความรุนแรงลง เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรง ปัญหาต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้าง และค่าแรงที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากจะมีการปรับราคาค่าแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศต้นปี 2556 และที่สำคัญคือ บรรยากาศการจะซื้อ หรือสร้างบ้านหลังใหม่ของผู้บริโภคในช่วงไตรมาส 3 นี้ค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากกังวลปัญหาน้ำท่วมซ้ำ
นายสิทธิพรกล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ภาพการแข่งขันในช่วงไตรมาส 3 ลดความเข้มข้นลง โดยผู้ประกอบการบางรายไม่พร้อมจะขาย หรือรับงานสร้างบ้านหลังใหม่เพิ่ม เพราะยังมีบ้านที่ขายไว้ก่อนหน้านี้ในราคาต้นทุนเดิม ซึ่งยังไม่ได้ทำการก่อสร้าง หรืออยู่ระหว่างก่อสร้าง แต่ปัจจุบันราคาต้นทุนค่าก่อสร้างใหม่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้บริหารจัดการยากขึ้น และอาจประสบปัญหาขาดทุน หรือไม่มีผลกำไรจากธุรกิจ
ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการมีความระมัดระวังในการแข่งขันราคา นอกจากนี้ ยังมีงานก่อสร้างคั่งค้าง และส่งมอบงานล่าช้าอยู่จำนวนมาก เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งระบบ โดยเฉพาะแรงงานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งผู้ประกอบการต้องยอมจ้างแพงกว่าค่าแรงปกติเกือบเท่าตัว เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ดังนั้น หากมองภาพรวมของการแข่งขันในปัจจุบัน จึงไม่ใช่แข่งขันด้านยอดขายแต่เป็นการแข่งขันกันแย่งชิงแรงงาน
สำหรับการแข่งขันของตลาดต่างจังหวัดพบว่า ไม่รุนแรงแต่อย่างใด เนื่องจากมีผู้ประกอบการแข่งขันอยู่น้อยราย หากจะมีการแข่งขันราคาบ้าง ก็จะเป็นตลาดในหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ อุดรธานี โดยทั้ง 2 จังหวัดมีผู้ประกอบการท้องถิ่น และจากส่วนกลางเข้าไปแข่งขันกันมากกว่า 8-10 ราย ทำให้พื้นที่จังหวัดดังกล่าวมีความคึกคัก
ทั้งนี้ ประเมินมูลค่ารวมตลาดรับสร้างบ้านปี 2555 นี้ มีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าเป้าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าในช่วงไตรมาส 4 จะมีกำลังซื้อกลับคืนมามากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ เบื้องต้นประเมินว่ามูลค่าตลาดรวมน่าจะต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท