xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.แรงงาน ร่วมกับ สสส.และภาคเครือข่าย หาทางปลดล็อกข้อจำกัดประกันสังคมแรงงานข้ามชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กมธ.แรงงาน ร่วมกับ สสส.และภาคเครือข่าย หาทางปลดล็อกข้อจำกัดประกันสังคมแรงงานข้ามชาติ ลดความเหลื่อมล้ำ พบตัวเลขแรงงาน 2 ล.คน มีประกันสังคมแค่ 1 ใน10 แถมได้รับสิทธิ์ไม่เท่าเทียม เพราะไม่กล้าเรียกร้อง เข้าไม่ถึงข้อมูล จี้เร่งสร้างความเท่าเทียม พัฒนาคุณภาพชีวิต วางแผนระยะยาวรองรับ AEC

วันนี้ (21 ก.ย.) ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับองค์กรต่างๆ อาทิ มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน และคณะทำงานพัฒนารูปแบบกลไก เพื่อการเข้าถึงนโยบายหลักประกันทางสังคม สำหรับแรงงานข้ามชาติ แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานและ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) จัดเสวนาวิชาการ “ปลดล็อกข้อจำกัดประกันสังคมแรงงานข้ามชาติ ทิศทางที่เหมาะสมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” โดยได้รับความสนใจจากตัวแทนแรงงานจากที่ต่างๆ เข้าร่วมฟังร่วมจำนวนมาก

ทั้งนี้ ว่าที่ ร.ต.สุพล สินธุนาวา ประธานที่ปรึกษากรรมาธิการการแรงงาน กล่าวว่า กรรมาธิการได้ติดตามข้อมูลด้านแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทย พบว่า ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานครอบคลุมอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันพบว่า มีนายจ้างส่วนหนึ่งยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อดูแลสิทธิด้านสุขภาพ ดังนั้น ในอนาคตที่ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซี่ยน (AEC) จึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องทบทวนปรับสิทธิประโยชน์ที่เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้

ด้าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะสสส.กล่าวว่า โดยข้อมูลตัวเลขจากสภาพัฒน์ ระบุว่า อัตราการเพิ่มของคนไทยจะไม่เกิน 70ล้านคน โดยเวลานี้อัตราตัวเลขการเกิดและการตายอยู่ในสัดส่วนเท่ากัน ฉะนั้น กลุ่มที่เพิ่มมากขึ้น คือ กลุ่มผู้สูงอายุ เพราะมีการดูแลสุขภาพดีขึ้น แต่กลุ่มวัยแรงงานจะทยอยลดลง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แรงงานข้ามชาติต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั้งยืน และมั่นคง ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีความต้องการสิทธิบางอย่างที่แตกต่างจากแรงงานภายในประเทศ โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์บาง ดังนั้น การออกแบบระบบประกันสังคมให้เหมาะสม กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และการทำความเข้าใจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างข้ามชาติที่ต้องมีข้อมูลเท่าเทียมกัน โดยทุกฝ่ายต้องหันหน้ามาช่วยกันสร้างระบบ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะสิทธิ์ขั้นพื้นฐานในการดูแลป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากการทำงาน หรือโรคที่ป้องกันได้ เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการทำงานอันตราย หรืองานหนัก ได้รับค่าจ้างไม่เป็นธรรม ขาดสวัสดิการที่เหมาะสมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างสวัสดิการและการดูแลกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ให้เกิดความสมดุลทั้งระบบ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และบริการของรัฐอย่างมีคุณค่าและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับที่เราอยากเห็นแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศได้รับการดูแลในทำนองเดียวกัน

ขณะที่ นายบัณฑิต แป้นวิเศษ ผู้ประสานงานคณะทำงานพัฒนาระบบกลไกประกันสังคมที่เหมาะสมสำหรับแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า จากจำนวนแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเกือบ 2 ล้านคน พบว่า มีแรงงานเพียง 2 แสนกว่าคนเท่านั้น ที่อยู่ในระบบประกันสังคม และในจำนวนนี้ยังพบปัญหาสิทธิที่ไม่เท่าเทียม การเข้าไม่ถึงสิทธิ์เช่นสิทธิการลาคลอด สิทธิชดเชยการว่างงาน สิทธิในเงินสงเคราะห์ชราภาพ ทั้งที่มีการจ่ายเงินสมทบเหมือนแรงงานในระบบทั่วไป โดยปัญหาเกิดจากแรงงานต่างชาติยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ยังมีปัญหาการใช้สิทธิตามกฏหมายเพราะความกลัวต่ออำนาจรัฐ นอกจากนี้ ยังพบว่านายจ้างส่วนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานในกลุ่มแรงงานต่างชาติ โดยอ้างเหตุผลต่างๆซึ่งไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน และถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมายด้วย

“นโยบายแรงงานข้ามชาติของรัฐจำเป็นต้องวางแผนระยะยาวเพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC ที่จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้มีการศึกษารูปแบบและกลไกที่เหมาะสมเพื่อรองรับการสร้างคุณภาพชีวิต และทำให้แรงงานเกิดความมั่นใจ ทั้งนี้ การสร้างสิทธิที่เท่าเทียม และสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับแรงงานข้ามชาติ จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เพราะปัญหาขาดแคลนแรงงานในประเทศจะคงอยู่อีกนาน และการมีนโยบายต่อแรงงานข้ามชาติที่ชัดเจน จะช่วยแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ได้อีกทางหนึ่งด้วย”

ด้าน นายอารักษ์ พรหมมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกับสังคม (สปส.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาแรงงานต่างชาติต้องผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายสาธารณะที่ทุกฝ่ายเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา ทั้งองค์กรพัฒนาภาคเอกชน ภาครัฐ และเอกชน โดยนโยบายด้านสุขภาพต้องได้รับความสำคัญเช่นเดียวกับเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม โดยในปี2558 ที่จะเข้าสู่ประชาคมเอาเซียน นโยบายด้านแรงงานจะมีความสำคัญและต้องเกิดความเท่าเทียมกันไม่แบ่งแยกว่าเชื้อชาติใด และจะไม่มีคำว่า นโยบายเพื่อแรงงานข้ามชาติ หรือต่างชาติ อีกต่อไป แต่ต้องเป็นนโยบายด้านแรงงานของคนทั้งอาเซียนที่เท่าเทียมและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น