xs
xsm
sm
md
lg

“ทีดีอาร์ไอ” เตือน “เอสเอ็มอี” เตรียมรับมือวิกฤต “แรงงาน” ขาดแคลน ทั้งปริมาณ-คุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ทีดีอาร์ไอ” ออกบทความเชิงวิจัย เตือนภาคธุรกิจ “เอสเอ็มอี” ไทยปรับตัว และรับมือยุควิกฤต “แรงงาน” ขาดแคลน ทั้งปริมาณ และคุณภาพ

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกบทความ เอสเอ็มอีไทยในยุควิกฤตแรงงาน และโอกาสใน AEC โดยเตือนภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทย ต้องเร่งปรับตัวรับมือยุควิกฤตแรงงานที่ยังคงขาดแคลน ทั้งปริมาณ และคุณภาพ โดยเฉพาะกิจการขนาดกลางและย่อม ทางเลือกอยู่ให้รอดต้องยกระดับใช้เทคโนโลยี เพิ่มโอกาสเปิดตลาดในเออีซี

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า เอสเอ็มอี เป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ โดยสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศคิดเป็นมูลค่ากว่า 3.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 38% ของจีดีพี จากจำนวนเอสเอ็มอีที่มีมากถึง 2.9 ล้านแห่ง หรือ 99.6% แต่ในจำนวนนี้ มีเอสเอ็มอีที่มีขนาดใหญ่จริงๆ เพียง 9,128 แห่ง หรือคิดเป็น 0.3% ซึ่งถือว่าน้อยมาก รองลงมาคือ เอสเอ็มอีขนาดกลาง 18,383 แห่ง หรือ 0.6% ขณะที่เหลืออีก 99%,894,713 แห่ง คือ เอสเอ็มอีขนาดย่อม รายได้ส่วนใหญ่มาจากเอสเอ็มอีขนาดใหญ่มากสุด รองลงมาคือ ขนาดกลาง และขนาดเล็กตามลำดับ

จะเห็นว่า จำนวนเอสเอ็มอีกับการสร้างรายได้ไม่สมดุลกัน เพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ซึ่งมีจำนวนน้อย ขณะที่เอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีมากกว่า 2.8 ล้านแห่งนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้กระจายอยู่ทั่วไป แต่กระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองใหญ่ เพื่อความคล่องตัวในการคมนาคม ขนส่ง ในแง่การเป็นแหล่งจ้างงานเอสเอ็มอีสามารถดูดซับแรงงานได้มากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานคือ ราว 13 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้ มีเพียง 3 ล้านคนที่ทำงานในเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ ที่เหลืออีก 10 ล้านคนอยู่ในธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดกลางลงมา ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจในลักษณะธุรกิจครอบครัว แบบเถ้าแก่ทำเอง สภาพการจ้างงานมีความสุ่มเสี่ยงต่อการไม่ได้รับค่าจ้าง และสวัสดิการตามกฎหมาย งานหนัก เหนื่อยยาก จึงมักมีอัตราการเข้า-ออกของแรงงาน (Turn over) สูงถึง 25-30% จึงมีภาระผู้ประกอบการในการสรรหาบุคลากรทดแทนอยู่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้ว อุปสรรคในการดำเนินธุรกิจโดยภาพรวมกลับไม่ได้ให้ความกังวลในเรื่องแรงงานสูงในทุกขนาดอุตสาหกรรม แต่วิตกกับปัจจัยในเรื่องอื่นๆ มากกว่า เช่น ราคา ตลาด ภาวะเศรษฐกิจ ค่าน้ำมัน ปัญหาค่าจ้างแรงงานไม่เป็นอุปสรรคมากนักในเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ แต่จะมีผลกระทบกับเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ซึ่งมีขนาดกลาง และเล็ก ซึ่งต้องปรับตัวอย่างมาก แต่สำหรับเอสเอ็มอีขนาดย่อมไม่เกิน 5 คน ทาง สสว.กลับเห็นว่าไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าแรงสูง

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะสำหรับการปรับตัวของเอสเอ็มอีไทยขนาดกลาง และขนาดเล็กก็คือ จะต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพ และมีการยกระดับเทคโนโลยีที่ใช้ทดแทนแรงงานคนให้มากขึ้นโดยเร็ว เพื่อควบคุมต้นทุน และให้ธุรกิจแข่งขันได้ นโยบายค่าจ้างสูงอาจจะทำให้เอสเอ็มอีบางส่วนต้องปิดตัวลง และเลิกจ้างแรงงานแต่สถานการณ์ไม่น่าจะเลวร้าย เนื่องจากประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานระดับกลาง และระดับล่างหลายแสนคนในขณะนี้ ดังนั้น รัฐจึงควรเข้ามาสนับสนุนทำให้เกิดการถ่ายเทการจ้างงานจากแหล่งงานที่ลดคนงานไปสู่แหล่งงานที่ขาดคนงาน เพราะมีธุรกิจมากกว่าร้อยละ 66 ยังมีความต้องการแรงงาน จึงเป็นโอกาสดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมจัดหางาน จะเข้าไปทำการ matching คนตกงานกับแหล่งธุรกิจที่ยังมีความต้องการแรงงานไทยเพิ่มอยู่เป็นอย่างมาก จะช่วยบรรเทาปัญหาลดคนงานในเอสเอ็มอีแ ละแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับโอกาสเอสเอ็มอีไทยใน AEC ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้ได้ มีกระบวนการผลิตทันสมัย ต้องเพิ่มผลิตภาพ หรือคุณภาพเข้าไป ใช้แรงงานฝีมือ (ต้นทุนต่ำ คุณภาพสินค้ามีมาตรฐาน บรรจุภัณฑ์โดดเด่น) ราคาสินค้าต้องแข่งขันได้ (มียี่ห้อ มีตลาดรองรับ) ทั้งนี้ ผลิตภาพเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เชื่อว่าซึ่งหากปรับปรุงเรื่องทางด้านทุน (กายภาพ) เรื่องเทคโนโลยี และทุนมนุษย์เข้ามาในอนาคตประเทศไทยจะกลับไปรุ่งเรืองทั้งๆ ที่เป็นเศรษฐกิจค่าแรงแพงได้อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น