ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย จ่อคิวนำถั่วเหลือง และข้าวโพดเข้าซื้อขาย ต้นปีหน้า
บอร์ดอนุมัติใช้ราคาจากตลาดล่วงหน้าระดับโลก Chicago Mercantile Exchange Inc. (CME) เป็นราคาอ้างอิงซื้อขาย ตอบสนองการลงทุน
นายชาตรี สหเวชชภัณฑ์ กรรมการและผู้จัดการ AFET เปิดเผยว่า “AFET ได้เตรียมการที่จะนำสินค้าถั่วเหลือง และข้าวโพดเข้ามาซื้อขายล่วงหน้า โดยใช้ราคาอ้างอิงจากตลาดล่วงหน้า Chicago Mercantile Exchange Inc. (CME) ซึ่งเป็นตลาดล่วงหน้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงมาก ทำให้มีความน่าเชื่อถือและโปร่งใส จนกลายเป็นตลาดที่ถูกนำราคาไปใช้อ้างอิงกันอย่างแพร่หลาย”
“โดยลักษณะสัญญาของสินค้าถั่วเหลือง และข้าวโพดนี้ ผู้ลงทุนสามารถเลือกชำระราคาด้วยเงินสด (Cash Settlement) ซึ่งนับเป็นสีสันใหม่สำหรับการลงทุน เนื่องจากเป็นสัญญาที่มีขนาดเล็ก ทำให้มีความคล่องตัวในการซื้อขายสูง ซึ่งเทียบเคียงได้กับสินค้าในตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) หรือ TFEX ที่มีการใช้ราคาอ้างอิงจากตลาดล่วงหน้าในต่างประเทศในการซื้อขาย เช่น น้ำมัน และทองคำ นอกจากนี้ สินค้าดังกล่าวยังได้รับความสนใจ และตอบรับเป็นอย่างดีจากโบรเกอร์ของ AFET และบริษัทหลักทรัพย์ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกในอนาคต”
สำหรับประเทศไทย ถั่วเหลืองเป็นพืชเศรษฐกิจในกลุ่มน้ำมันพืช และอาหารสัตว์ โดยในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการนำเข้าสูงเป็นอันดับ 1 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตร คิดเป็น 34,300 ล้านบาท แต่มูลค่าการผลิตมีเพียง 2,300 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ เราจึงจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศสูงถึงร้อยละ 95 ของปริมาณการใช้ในกระบวนการผลิตน้ำมันพืชทั้งหมดส่วนข้าวโพดเป็นพืชอาหารพื้นฐานที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ โดยความต้องการใช้ข้าวโพดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่อุตสาหกรรมนี้มีการขยายตัวตั้งแต่ปี 2535
นอกจากนี้ ภาวะความต้องการใช้ของโลกยังมีมากกว่าการผลิตตลอดมา และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้มีการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการผลิตเอทานอล ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนน้ำมันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้ราคาในตลาดโลกมีความผันผวน สำหรับประเทศไทยนั้น สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นับว่ามีมูลค่าการผลิตค่อนข้างสูง คิดเป็น 35,600 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ และมีการนำเข้าอีกประมาณ 750 ล้านบาท และจากการศึกษาพบว่า ราคาการซื้อขายล่วงหน้าของสินค้าถั่วเหลืองและข้าวโพดที่ CME มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับราคาการซื้อขายที่ตลาดจริง (Physical Market) ในประเทศไทย
นายชาตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า “การกำหนดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยอ้างอิงกับราคาของสินค้าถั่วเหลือง และข้าวโพดที่ซื้ขายกันใน CME ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้ามาบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา เนื่องจาก CME ถือเป็นตลาดล่วงหน้าที่ได้รับความเชื่อถืออย่างแพร่หลายในระดับโลก รวมถึงราคาของสินค้าอ้างอิงใน CME ยังถูกนำไปใช้เป็นราคาอ้างอิงในองค์กร และสื่อสาธารณะต่างๆ”
“ในขณะนี้ คณะกรรมการตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าฯ อนุมัติให้ใช้ราคาอ้างอิงสินค้าถั่วเหลือง และข้าวโพดตามที่ CME เสนอได้แล้ว โดย AFET จะมีการลงนามในสัญญาขอใช้ราคาอ้างอิงจาก CME ในเร็วๆ นี้” นายชาตรีกล่าวในที่สุด