ม.หอการค้าฯ ชี้การเมือง-ศก.โลก ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดัน ศก.ไทย แต่ยังมีโอกาสโตได้ 5-6% ห่วงดัชนีความเชื่อมั่นหลายตัวส่งสัญญาณเชิงลบ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือนกรกฎาคม 2555 โดยระบุว่า ปัจจัยลบในอนาคตที่มาจากหลายภาคส่วน เช่น การแถลงปรับประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทย ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจปีนี้ จากเดิมประมาณการเอาไว้ว่า จะเติบโตร้อยละ 6.0 เหลือร้อยละ 5.7 ส่วนปีหน้า 2556 ปรับลดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทย จากเดิมคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5.4 เหลือร้อยละ 5.0 ขณะที่ปัญหายุโรปรุนแรงขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกติดลบกันถ้วนหน้า การเมืองภายในประเทศไม่นิ่ง ปัจจัยดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลต่อประชาชน
ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันปรับขึ้น แม้จะเป็นเพียงการปรับราคาเบนซินเป็นหลัก แต่ทิศทางราคาน้ำมันโลกมุ่งสู่ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และยังเริ่มมีความวิตกกังวลต่อภาวะน้ำท่วมจากพายุที่เข้าสู่จีน ประเทศไทยจึงอาจมีความเสี่ยงภาวะน้ำท่วม ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในอนาคตลดลง เศรษฐกิจไทยจึงไม่สดใส ด้านการส่งออกของไทยที่ไม่โดดเด่นยังจะมีผลต่อการจ้างงาน และความคึกคักของเศรษฐกิจด้วย ท่ามกลางระดับราคาสินค้าเกษตรที่ไม่ดีนัก เช่น ราคายางพารายังต่ำกว่า 90 บาท/กิโลกรัม และพืชผลอื่นๆ ระดับราคาก็ไม่สูง ทำให้กำลังซื้อของประชาชนนิ่งๆ ไม่คึกคัก
นายธนวรรธน์กล่าวว่า โอกาสที่เศรษฐกิจไทยปี 2555 จะเติบโตร้อยละ 5-6 มีความเป็นไปได้ แต่ต้องจับตาเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสที่ 3 ต่อไป ภาครัฐจำเป็นต้องบริหารการเมือง โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรองดอง เพื่อให้ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม จากความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เชื่อว่า มีโอกาสมากถึงร้อยละ 50 ที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะเติบโตเหลือเพียงร้อยละ 5.0-5.5 เท่านั้น เพราะเสี่ยงจากการฟื้นตัวไม่เร็วไม่แรงพอ
ทั้งนี้ ขอแนะให้รัฐบาลเร่งการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เพราะเศรษฐกิจมีพื้นฐานที่เปราะบาง พร้อมกันนี้ ต้องบริหารให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 และ 4 โดยควรบริหารให้การเมืองมีเสถียรภาพ ต้องไม่เกิดการชุมนุมทางการเมือง และยังต้องมีการบริหารจัดการน้ำควบคู่ไปกับเร่งชี้แจงให้ประชาชน และนักลงทุนมั่นใจว่า ผลจากการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล จะทำให้ปีนี้น้ำไม่ท่วมอีก และจำเป็นตรึงราคาพลังงานไปถึงปลายไตรมาสที่ 3 สุดท้าย คือ เตรียมการดูแลผลกระทบเศรษกิจโลกโดยเฉพาะจากยูโรโซน รวมถึงสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีมาตรการเยียวยาเพื่อให้ประชาชนมีจิตวิทยาในเชิงบวก
นายวชิร คูณทวิเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผุูบริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากระดับ 68.5 สู่ระดับ 68.2 ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากยังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะยุโรป ที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน พบว่า ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยในเดือนกรกฎาคม 2555 ดัชนีปรับตัวดีขึ้นจากเดือนมิถุนายน ที่อยู่ 56.8 สู่ 57.3
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคต 6 เดือนข้างหน้า ของเดือนกรกฎาคม 2555 ปรับตัวลดลงจากระดับ 80.2 มาอยู่ที่ระดับ 79.1 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีความเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ยังมีความเสี่ยงต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเสถียรภาพทางการเมือง ปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป รวมทั้งแนวโน้มค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง