xs
xsm
sm
md
lg

SCB คงจีดีพีปีนี้โต 5.6-5.8% ลุ้นยุโรปแก้หนี้-สหรัฐฯ ใช้ QE3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพาณิชย์ ประเมินผลกระทบยูโรโซนต่อเศรษฐกิจไทย “ส่งออกชะลอ-บาทผันผวน” ขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอยังไม่น่าห่วง พร้อมคงจีดีพีทั้งปียังโตได้ 5.6-5.8% คาดแบงก์ชาติคงดอกเบี้ยนโยบาย 3% หวั่น ดบ.แท้จริงติดลบ

นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยใน 4 ด้านด้วยกัน คือ 1.ผลกระทบต่อการส่งออกทางตรงไปยุโรป และทางอ้อมจากการส่งออกไปประเทศคู่ค้าของยุโรป ซึ่งในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เริ่มเห็นความต้องการในการสั่งสินค้าจากยุโรปลดลง โดยคาดว่าปีนี้ การส่งออกของไทยจะขยายตัว 11% และหากกรณีเลวร้ายจะขยายตัว 8%

ผลกระทบด้านที่ 2.ความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยนจะเพิ่มขึ้น จากความกังวลต่อปัญหาของยุโรป ส่งต่อกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออก ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจต่างประเทศจึงต้องระมัดระวัง โดยคาดว่า ค่าเงินบาทจะอยู่กรอบ 30-32 บาทต่อดอลลาร์ และน่าจะอยู่ที่ระดับ 30.50 บาท ณ สิ้นปีนี้ 3.ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน กลุ่มอาหาร ยาง และโลหะ ซึ่งผู้ประกอบการที่สต๊อกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไว้ อาจทำให้มูลค่าสินค้าดังกล่าวลดลง และ 4.ผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น สำหรับผู้ประกอบการที่มีโครงการจะขยายการลงทุนไปต่างประเทศ

“ความกังวลต่อปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรป แม้ว่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการประเทศ Euro Summit ที่ผ่านมา ที่มีความชัดเจนในแนวทางแก้ไขปัญหาที่จะรวมตัวกันแน่นขึ้น แต่ก็ต้องติดตามต่อไปว่าจะทำได้ตามที่วางแนวทางทไว้หรือไม่ ทั้งด้านการคลัง และสถาบันการเงิน โดยน่าจะเห็นผลชัดเจนในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่ก็ยังเปราะบางนั้น ปัจจัยหลักจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะใช้ QE3 หรือไม่”

สำหรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ที่ระดับ 7.6% ซึ่งต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้นั้น การขยายตัวในระดับดังกล่าวยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากทางภาครัฐบาลของจีนยังมีเงินสำรองอยู่อีกเป้นจำนวนมากที่สามารถอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจหากมีการชะลอตัวลงแรง

คงอาร์พี 3% ห่วง ดบ.แท้จริงติดลบ

ดังนั้น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ จึงคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 5.6-5.8% โดยมีปัจจัยบวกจากการใช้จ่ายที่ยังเติบโตได้ดี และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยใหญ่ พร้อมกันนั้น ยังปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของปี 2555 มาอยู่ที่ 3.2-3.7% จากเดิม 3.5-4% จากการชะลอตัวของต้นทุน ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวในระดับ 3% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ หากปัญหาทางยุโรปไม่ลุกลามเพิ่มขึ้น

“การปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสเป็นไปได้น้อย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยยังคงในระดับต่ำ 0.4% เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งหมายถึงต้นทุนการลงทุนของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ทางแบงก์ชาติจึงน่าจะเก็บการลดดอกเบี้ยไว้เพื่อเป็นมาตรการสำรองเพื่อรอดูความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกก่อน”

คาดปีหน้าจีดีพีโต 4.7-5.2%

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2556 คาดว่า จะมีศักยภาพขยายตัวได้ 4.7-5.2% จากแรงสนับสนุนมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่น่าจะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น รวมถึงประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่จะสูงขึ้ นจากการทดแทนเครื่องจักรเก่าที่ชำรุดเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม และตลาดอินโดจีน อันประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นช่องทางตลาดให้ธุรกิจไทยได้ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจะยังเป็นปัญหายูโรโซนที่จะมีความซับซ้อนขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น