xs
xsm
sm
md
lg

STHAI เร่งแก้ไขพ้นเพิกถอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซันไทยอุตสาหกรรมถุงมือยาง เร่งแก้ไขพ้นเพิกถอน แจงเหตุงบไตรมาสแรก ผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง เหตุราคาวัตถุดิบผันผวน และปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และไม่อาจปรับราคาได้ตามต้นทุน พร้อมคุม และบริหารการดำเนินงานให้เกิดสภาพคล่อง เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีกำไรได้สูงในประเทศ และเพื่อนบ้าน และปรับโครงสร้างหนี้กับ “ไทยฮั้วยางพารา” เสร็จสิ้น

บริษัท ซันไทยอุตสาหกรรมถุงมือยาง จำกัด (มหาชน) หรือ STHAI แจ้งกรณีแรกสาเหตุที่ทำให้บริษัทมีผลการดำเนินงานลดต่ำลงในระยะที่ผ่านมา และต่อเนื่อง เนื่องจากราคาวัตถุดิบมีความผันผวน และปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ทันกับการเพิ่มขึ้นของวัตถุดิบ กรณีที่สอง แนวทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท เพื่อมิให้เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหลักทรัพย์ ซึ่งตามที่ผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินงานต่อเนื่องของบริษัทฯ นั้น เนื่องจาก ณ วันที่ 31 มีนาคม 55 บริษัทฯ มีขาดทุนสุทธิสำหรับงวด 3 เดือน เท่ากับ 4.78 ล้านบาทมีหนี้สินหมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน 157.10 ล้านบาท มีขาดทุนสะสม 601.84 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงความไม่แน่นอนอย่างมีสาระสำคัญในการดำเนินงานต่อเนื่องของบริษัทฯ

โดยบริษัทฯ ชี้แจงดังนี้ จากงบการเงินจะพบว่าตั้งแต่ปี 49-ไตรมาส 1/2555 บริษัทประสบผลขาดทุนสุทธิมาโดยตลอด และทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 31 มีนาคม 55 คงเหลือ 1.29ล้านบาท เหตุเพราะราคาน้ำยางข้น และน้ำยางสังเคราะห์ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตถุงมือยางมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาขายถุงมือยางไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบได้ และยอดจำหน่ายถุงมือยางในต่างประเทศของไตรมาส 1/2555 มีมูลค่าลดลงจากปีที่แล้ว 55.92 ล้านบาท หรือ 23.02% เนื่องจากบริษัทฯ เน้นผลิตและจำหน่ายถุงมือยางชนิดที่สามารถทำกำไรได้สูงเท่านั้น แต่บริษัทฯ ยังมีกำไรขั้นต้นสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 19.62%

สาเหตุที่มีการตั้งสำรองในปี 49-ปี 53 เนื่องจากบริษัทฯ มีภาระสต๊อกสินค้าคงเหลือเป็นจำนวนมาก และบริษัทได้ประเมินแล้วคาดว่า ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่จะได้รับในอนาคตจะลดลงจึงมีการตั้งสำรองไว้ แต่ในปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ดำเนินนโยบายการบริหารสินค้าคงคลังอย่างเข้มงวด ทำให้ไม่มีการตั้งสำรองเพิ่ม

นอกจากนั้น สาเหตุที่ทำให้ไตรมาสแรกปี 55 มีผลขาดทุน เนื่องจากบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายในการขาย และบริหารเพิ่มสูงขึ้นอีก 11.95% รวมทั้งยังมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นอีก 38.13%เนื่องจากบริษัทฯ มีภาระในการจ่ายดอกเบี้ยจากการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ และดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระยะสั้นเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีการวางแผนการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทฯ รวมทั้งปรับกลยุทธ์ต่างๆ ให้สองคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย โดยควบคุมต้นทุนทั้งกระบวนการผลิต เพื่อให้ Fixed Cost ของบริษัทฯ ลดลง โดยการจัดทำโครงการลดต้นทุน และค่าใช้จ่าย ซึ่งวางแผน และกำหนดเป้าหมายให้สามารถลดค่าใช้จ่าย และต้นทุนได้เดือนละประมาณ 2 ล้านบาท ควบคุมการผลิตในทุกขั้นตอน เน้นเรื่องคุณภาพ และน้ำหนักของถุงมือ เพื่้อลดการสูญเสียอันจะทำให้กำไรเพิ่มเพื่อที่จะสามารถทำกำไรได้มากขึ้น

ขณะที่ด้านการตลาด เน้นการขายในประเทศมากยิ่งขึ้น โดยเสริมทีมขายในประเทศ เน้นกลยุทธ์ขายตรงให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ กำหนดทิศทางการขายต่างประเทศใหม่ เน้นกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออก เน้นขายผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำกำไรได้สูง และการสร้างตราสินค้า (Brand) เป็นของตัวเองนำเข้าสู่ตลาด เพื่อสร้างยอดขายให้มากยิ่งขึ้น

สำหรับกรณีที่บริษัทได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ซึ่ง ณ วันที่ 31 มีนาคม 55 บริษัทมีหนี้ตามสัญญา 155.48 ล้านบาท ทั้งนี้ ในอดีตบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ โดยถือหุ้น 37.66 % ของทุนชำระแล้วปัจจุบันการที่บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ได้ขายหุ้นทั้งหมด และไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัททั้งหมดแล้วนั้น มีผลกระทบต่อแผนชำระหนี้ดังกล่าวหรือไม่ และจากฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทนั้น บริษัทยังสามารถชำระหนี้ให้เป็นไปตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่ รวมทั้งปัจจุบัน บริษัทไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ยังให้การสนับสนุนและยังทำธุรกรรมในการจำหน่ายน้ำยางซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าให้แก่บริษัทเช่นเดิมหรือไม่ อย่างไร

ปัจจุบัน การที่บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ได้ขายหุ้นทั้งหมด และไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัททั้งหมดแล้วนั้น ไม่มีผลกระทบต่อแผนชำระหนี้ดังกล่าว และจากฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของบริษัทนั้น บริษัทฯ ยังสามารถชำระหนี้ให้เป็นไปตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ได้ตามปกติ รวมทั้งปัจจุบัน บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ยังให้การสนับสนุน และยังทำธุรกรรมในการจำหน่ายน้ำยางให้แก่บริษัทฯ เช่นเดิม ซึ่งราคาซื้อขายเป็นไปตามราคาตลาด ณ ช่วงเวลานั้น โดยใช้ใบเสนอราคาของผู้จำหน่ายอย่างน้อย 3 ราย และได้เทียบกับราคากลางจากสถาบันวิจัยยางกรุงเทพฯ อีกด้วย

ทั้งนี้ เป็นผลจากงบการเงินไตรมาสแรกปี 55 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 55 ซึ่งผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตมายังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยผู้สอบบัญชีได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณีบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนรวมมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวมเงิน 157.10 ล้านบาท และมีขาดทุนสะสม 601.80 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่อง โดยบริษัทไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ให้เจ้าหนี้บริษัทที่เกี่ยวข้องแห่งหนึ่ง และได้ผิดนัดชำระเงินกู้ยืมระยะสั้นจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกันดังกล่าว

ดังนั้น บริษัทได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ฉบับแก้ไขหลายฉบับ ปัจจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นความไม่แน่นอนอย่างมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานต่อเนื่องของบริษัท รวมทั้งจากการที่บริษัทมีผลการดำเนินงานเป็นขาดทุนสุทธิอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงตามลำดับ โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 55 บริษัท มีส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 1.29 ล้านบาท ซึ่งตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามที่อ้างถึง กำหนดว่าบริษัทจดทะเบียนจะเข้าข่ายอาจถูกเพิกพอนหากงบการเงินประจำปีที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีปรากฏส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่าศูนย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสั่งห้ามซื้อ หรือขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนเป็นการชั่วคราว โดยขึ้นเครื่องหมาย “SP” (Suspension) และขึ้นเครื่องหมาย “NC” (Non-compliance) จนกว่าบริษัทจดทะเบียนจะดำเนินการให้เหตุดังกล่าวหมดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น