xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ราคายางดิ่งเหว เปลือยกึ๋น“ไอ้เต้น” แค่รัฐมนโทสภาโจ๊ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมยางไทย เร่งบริบทงานวิจัย ขจัดภัยมืดยางพารา” ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ เมื่อ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมประกาศจะผลักดันการส่งออกยางให้ได้ปีละ 1 ล้านล้านบาท และยกระดับราคายางให้ถึง 120 บาท/กก. แต่ล่าสุดราคายางที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ 85 บาท/กก.
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในการปรับ ครม.ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ใครๆ ก็มองว่านี่คือการปูนบำเหน็จให้นายณัฐวุฒิ ได้มีโอกาสนำก้นไปสัมผัสกับเก้าอี้รัฐมนตรีเพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลบ้าง ในฐานะที่นายณัฐวุฒิเป็นแกนนำคนเสื้อแดง ใช้ฝีปากด่าทอลดความน่าเชื่อถือฝ่ายตรงข้าม ช่วยนายใหญ่มาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา

โดยไม่สนใจว่า นายณัฐวุฒิจะมีคุณสมบัติและความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งนี้หรือไม่

ยังไม่นับรวมถึงคดีความติดตัว ในฐานะที่นายณัฐวุฒิเป็นแกนนำ ปลุกระดมคนเสื้อแดงให้ออกมาเผาบ้านเผาเมืองในปี 2552 และปี 2553 ซึ่งมีผู้ยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสอบสวนจริยธรรมไว้แล้ว อันทำให้นายณัฐวุฒิ ไม่สมควรที่จะอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี

ในช่วงที่นายณัฐวุฒิเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ได้พยายามโอ้อวดว่าเขามีความรู้เรื่องการเกษตร เพราะเป็นคนต่างจังหวัดและคลุกคลีกับมวลชนระดับรากหญ้ามานาน โดยผลงานที่เขาพยายามจะทำให้ได้คือ การยกระดับราคายางพารา ที่เริ่มตกต่ำลง หลังจากที่เคยขึ้นไปสูงสุดถึงกิโลกรัมละ 200 บาทในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นายณัฐวุฒิพยายามผลักดันก็ยังไม่มีอะไรใหม่ นอกจากเป็นงานต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยเฉพาะการผลักดัน พ.ร.บ.การยางพาราแห่งประเทศไทย ที่จะนำ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยางพาราได้แก่ สถาบันวิจัยยาง องค์การสวนยาง และกองทุนสงเคราะห์สวนยาง มารวมเป็นหน่วยงานเดียวกัน เพื่อให้การทำงานเรื่องยางพารามีเอกภาพชัดเจนเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เคยมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสภา แต่ได้ถอนวาระออกไปเสียก่อนเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ

รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงได้นำร่าง พ.ร.บ.การยางฯ มาปัดฝุ่นอีกครั้ง และ ครม.ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกรัฐบาลขณะนั้นได้แถลงราวกับว่า การผ่านร่าง พ.ร.บ.การยางฯ คือผลงานชิ้นโบแดงของกระทรวงเกษตรฯ ในส่วนที่นายณัฐวุฒิรับผิดชอบ พร้อมโอ้อวดว่า พ.ร.บ.การยางฯ จะทำให้ปัญหาความผันผวนของราคายางพาราหมดสิ้นไปเสียที เพราะจะเพิ่มเม็ดเงินรายได้เข้าประเทศจากยางพารา จากปีละ 6.8 แสนล้านเป็นปีละ 1 ล้านล้านบาทในเวลาอันใกล้นี้

ส่วนมาตรการระยะสั้น คือการจัดงบประมาณ 15,000 ล้านบาททำโครงการพัฒนาสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารา โดยการรับซื้อยางนำตลาดเพื่อดึงราคายางพาราให้ขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 120 บาท แบ่งเป็นให้องค์การสวนยางรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกร (ที่เป็นนิติบุคคล) ในราคาชี้นำตลาดวงเงิน 10,000 ล้านบาท และให้สถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ กู้ไปซื้อยางจากเกษตรกรวงเงิน 5,000 ล้านบาท

วันที่ 26 เมษายน นายณัฐวุฒิ ได้ไปเป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมยางไทย เร่งบริบทงานวิจัย ขจัดภัยมืดยางพารา” ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ ได้ย้ำถึงเป้าหมายผลักดันการส่งออกยางพาราในปี 2556 ให้มีมูลค่าเป็น 1 ล้านล้านบาท พร้อมแจ้งให้ชาวสวนยางทราบถึงการใช้เงินประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารา โดยจะเริ่มรับซื้อยางแผ่นดิบชั้น 3 จากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 120 บาท ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2555 และจะเร่งดัน พ.ร.บ.การยางพาราฯ เข้าสู่สภาในการประชุมสภาในสมัยนี้ และหากว่าในปี 2556 ไม่สามารถขายยางพาราได้ตามเป้า 1 ล้านล้าน ก็จะแสดงความรับผิดชอบ

หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา ดูเหมือนว่าราคายางพาราที่เกษตรกรขายได้จะสวนทางกับคำคุยโวโอ้อวดของนายณัฐวุฒิโดยสิ้นเชิง แม้ว่ารัฐบาลได้เริ่มใช้เงิน 15,000 ล้านบาท เข้ารับซื้อยางพาราแล้วก็ตาม

วันที่ 25 พ.ค.นายอำนวย พูนเนียม ประธานกลุ่มพัฒนาบ้านโละจังกระ ผู้รับซื้อน้ำยางและโรงรมยาง อ.ตะโหมด จ.พัทลุง บอกกับผู้สื่อข่าวว่า จากการหารือกับเจ้าของธุรกิจรับซื้อน้ำยางสด และโรงรมยางพาราในพัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง และสงขลา ถึงโครงการ 15,000 ล้านบาท พบว่า มีผู้รับซื้อยางพารา และเจ้าของโรงรมยางพาราท้องถิ่นจำนวนมากทั้งที่จดทะเบียนเป็นกลุ่มแล้วตลอดจนที่ไม่ได้จดทะเบียน ไม่สามารถรับการสนับสนุนจากโครงการนี้ได้ และมีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระหนักในระยะใกล้นี้ โดยในวันดังกล่าว ราคาน้ำยางสด ลงมาอยู่ที่ 94 บาทต่อกิโลกรัม

ราคายางพาราที่ตกต่ำลงต่อเนื่อง ทำให้เริ่มมีการประท้วงจากชาวสวนยาง โดยเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช อ.ฉวาง ชาวสวนยางพาราใช้รถยนต์กระบะบรรทุกยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควันเต็มคันรถรวมกว่า 100 คันน้ำหนักรวมกว่า 300 ตัน เข้าจอดในตลาดเพื่อกดดันให้องค์การสวนยาง(อสย.)รับซื้อยางพาราจากเกษตรกรตามโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางฯ อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งเกษตรกรที่เป็นรายบุคคลและสถาบันเกษตรกร

ส่วนที่ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วันเดียวกันนั้น กลุ่มชมรมยางพาราภาคใต้จากจังหวัดสงขลา และพัทลุง จำนวนกว่า 100 คน พร้อมด้วยรถบรรทุกยางพารากว่า 10 คัน รวมตัวชุมนุมปิดตลาดกลางฯ เรียกร้องให้มีการรับซื้อยางจากเกษตรกรทั่วไป และสถาบันเกษตรกรอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อความเป็นธรรมแก่เกษตรกรอย่างแท้จริง

นายอำนวย พูลเนียม ประธานชมรมยางพาราภาคใต้ บอกว่าตามโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพยางพาราวงเงินจำนวน 15,000 ล้านบาทนั้น ที่ผ่านมา อสย.ได้เข้าซื้อยางที่ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานีในบางวัน โดยเสนอราคารับซื้อจากเกษตรกรทั่วไปต่ำกว่าราคาที่ อสย.ตั้งจุดรับซื้อจากสถาบันเกษตรกรที่เป็นนิติบุคคล ทำให้เกษตรกรทั่วไปไม่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ซึ่งจะมีการชุมนุมยืดเยื้อต่อไปหากไม่ได้รับคำตอบที่แน่ชัดจากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

การชุมนุมครั้งนี้ ทำให้นายชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ ผอ.อสย.ไปเจรจากับแกนนำชาวสวนยางที่ อ.หาดใหญ่ โดย อสย.รับข้อเสนอไปแก้ไขในหลักเกณฑ์ที่ให้สามารถใช้เงินตามโครงการฯ ในการประมูลรับซื้อยางจากเกษตรกร ณ ตลาดกลางยางพารา โดยนำเสนอคณะกรรมการบริหารโครงการฯ พิจารณาภายใน 15 วัน ซึ่งในระหว่างนั้นก็ทำให้ราคายางพาราดำดิ่ง ห่างจากเป้าหมายกิโลกรัมละ 120 บาทออกไปเรื่อยๆ

ล่าสุด วันที่ 14 มิ.ย.กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราในสุราษฎร์ธานีจำนวนกว่า 200 คน รวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ พร้อมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายเชิดศักดิ์ ชูศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเรียกร้องให้ทางรัฐบาลแทรกแซงรับซื้อยางพาราในราคา 120 บาท ตามคำพูดของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แต่ล่าสุดราคายางพาราเหลือเพียงกิโลกรัมละ 85 บาท           

ความล้มเหลวของโครงการ 1.5 หมื่นล้านบาทนี้ นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมชาวสวนยางพาราจังหวัดกระบี่ บอกว่า โครงการนี้มีข้อจำกัด เนื่องจากไม่สามารถจัดซื้อยางในปริมาณที่สอดคล้องกับผลผลิตที่มีได้ เพราะปริมาณยางที่หมุนเวียนในตลาดมีมากกว่าปริมาณยางที่รับซื้อได้ตามโครงการ ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 90% ต้องขายยางให้แก่พ่อค้าคนกลางในราคาถูก ขณะที่แนวโน้มราคายางพารายังลดลงอีก เงิน 15,000 ล้านบาทที่รัฐบาลทุ่มลงมาในตลาดยางถือว่าสูญเปล่า

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยทางการตลาดที่กดให้ราคายางพาราตกต่ำลงไปอีก นั่นคือ สต๊อกยางเพิ่มขึ้น ปริมาณความต้องการใช้ยางลดลงเพราะภาวะเศรษฐกิจโลก ความกังวลต่อภาวะวิกฤติหนี้ในยุโรป อัตราการแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาที่ยังแข็งตัว การเก็งกำไร และนโยบายของรัฐที่ล้มเหลว

จึงเห็นได้ชัดว่า นายณัฐวุฒิประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการแก้ปัญหาราคายางพาราเฉพาะหน้า ขณะที่แผนระยะยาวคือการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การยางพาราฯ เข้าสู่สภานั้น ก็เข้าวาระเมื่อใกล้ถึงวันปิดสมัยประชุมสภาแล้ว นั่นเพราะสภามัวแต่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญและออก พ.ร.บ.ปรองดองช่วยนายใหญ่

ระยะเวลาเกือบ 6 เดือน ที่นายณัฐวุฒิอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และเป็นผู้รับผิดชอบหน่วยงานที่เกี่ยวกับยางพารานั้น ได้พิสูจน์แล้วว่า ขีดความสามารถของนายณัฐวุฒิ เป็นได้เพียงแค่ “รัฐมนโท”ในตลกสภาโจ๊ก อาชีพดั้งเดิมของเขาแค่นั้นเอง ไม่ได้เหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีที่ต้องดูแลงานใหญ่ๆ ของชาติบ้านเมืองแม้แต่น้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น