xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ สวนยางกระบี่ชี้รัฐทุ่มเงิน 15,000 ล้านแก้ยางราคาร่วงสูญเปล่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หน่วยงานภาครัฐและเอกชนกระบี่ หารือราคายางตกต่ำ
กระบี่ - หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน จังหวัดกระบี่ ร่วมถกแก้ปัญหาราคายางร่วง นายกสมาคมชาวสวนยางพารา จ.กระบี่ ระบุ รัฐบาลทุ่มเงิน 15,000 ล้านบาทช่วยชาวสวนยางสูญเปล่า แนวโน้มราคายังลดลงเรื่อยๆ

นายอุเทน ตัณตรีบูรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ จัดขึ้น ณ ห้องประชุมสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จังหวัดกระบี่ โดยมี นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมชาวสวนยางพารา จังหวัดกระบี่ นายทวีศักดิ์ คงแย้ม ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จังหวัดกระบี่ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายอุเทน กล่าวว่า ขณะนี้ ราคายางพารามีราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรของจังหวัด เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตรทำสวนยางพารา โดยมีพื้นที่ปลูกกว่า 1 ล้านไร่ และจากการติดตามสถานการณ์ราคาซื้อยางพารา ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา ได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยที่ยางแผ่นดิบชั้น 3 ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ปรับตัวลดลงเฉลี่ย 2.38 บาท/กก. ตลาดกลางยางพารา สุราษฎร์ธานี ปรับตัวลดลงเฉลี่ย 1.83 บาท/กก. และตลาดกลางยางพารา นครศรีธรรมราช ปรับตัวลดลง เฉลี่ย 1.56 บาท/กก. ในส่วนของยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น ราคา FOB,C&F ก็ได้ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน

นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมชาวสวนยาง จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสถานการณ์ราคายางฉุดให้ราคายางตกต่ำ ก็เนื่องมาจากปริมาณความต้องการใช้ยาง สต๊อกยาง ภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราการแลกเปลี่ยน ปริมาณผลผลิตยาง การเก็งกำไร และนโยบายของรัฐ สำหรับในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ คาดว่า สถานการณ์ราคายางพารายังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอีก ถึงแม้ว่าความวิตกกังวลวิกฤติเศรษฐกิจของกรีซจะคลี่คลายลง แต่ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับระบบการเงินของสเปน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการลุกลามของวิกฤตหนี้ยุโรป และเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่จะตามมา นักลงทุนจึงมีความระมัดระวังมากขึ้น

นายกสมาคมชาวสวนยางพารา จังหวัดกระบี่ กล่าวอีกว่า ในส่วนนโยบายของรัฐ เกี่ยวกับโครงการพัฒนาสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งได้กำหนดให้องค์การสวนยางรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกร (ที่เป็นนิติบุคคล) ในราคาชี้นำตลาด วงเงิน 10,000 ล้านบาท และกำหนดให้สถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯวงเงิน 5,000 ล้านบาท มีข้อจำกัด เนื่องจากไม่สามารถจัดซื้อยางในปริมาณที่สอดคล้องกับผลผลิตที่มีได้ มีปริมาณยางที่หมุนเวียนในตลาดมีมากกว่าปริมาณยางที่หมุนเวียนในโครงการ ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 90% ต้องขายยางให้แก่พ่อค้าคนกลางในราคาถูก

นายบุญส่ง กล่าวด้วยว่า สำหรับราคายางแผ่นดิบ ที่มีการซื้อขายกันตามร้านค้าท้องถิ่น ราคาไม่เกิน 88 บาท/กก. ในขณะที่ต้นทุนการผลิต อยู่ที่ 70-80 บาท/กก. เท่ากับว่าชาวสวนยางเมื่อขายยางแล้วก็เกือบจะขาดทุน หากราคาเป็นอย่างนี้ต่อไป ก็คงจะกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางแน่นอน เนื่องจากแนวโน้มราคายางลดลงอีก ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะทุ่มเงินลงมาช่วยเกษตรกรแล้วถึง 15,000 ล้านบาท ก็ไม่ได้ช่วยชี้นำให้ราคายางเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เหมือนกับว่าเงินที่รัฐบาลทุ่มลงมาในตลาดยางสูญเปล่า
กำลังโหลดความคิดเห็น