พะเยา - ก.เกษตรฯ เปิดศูนย์รับซื้อยางพาราฯ ที่ภูซางแล้ว ด้าน รบ.อัดงบ 15 ,000 ล้านเตรียมรับซื้อยางช่วยเกษตรกร “อารี” เผยใช้กลไกซื้อนำตลาด ขยับราคา กก.ละ 1-2 บาท มั่นใจราคาถึง 120 บาทแน่ ส่วนราคาจริงประกาศ 2 พ.ค. ด้าน อสย.รับ 10,000 ล้านก่อนกระจายงบต่อทั่วประเทศเตรียมรับซื้อยาง
วันนี้ (28 เม.ย.55) นายอารี ไกรนรา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยข้าราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดพะเยา และเกษตรกรชาวสวนยางพาราพะเยา ร่วมพิธีเปิดศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพาราและจำหน่ายผลผลิต ณ อาคารสำนักงานองค์การสวนยาง (อสย.) ต.เชียงแรง อ.ภูซาง จ.พะเยา โดยศูนย์ดังกล่าวจะเป็นสถานที่รับซื้อผลผลิตยางพาราจากสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรักษาเสถียรภาพยางพาราในพื้นที่ภาคเหนือ
นายอารี กล่าวว่า ศูนย์ดังกล่าวจะถูกใช้เป็นสถานที่รับซื้อและรวบรวมผลผลิตยางพาราแผ่นดิบจากสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรักษาเสถียรภาพยางพารา โดยทางรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 15,000 ล้านบาท เพื่อให้ อสย.และสถาบันเกษตรกรใช้ในการซื้อยางพาราแผ่นดิบในลักษณะนำตลาดให้มีราคาสูงกว่าในท้องตลาด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหายางพาราราคาตกต่ำในช่วงที่ผ่านมาที่ผ่านมา โดยในส่วนของ อสย.ได้รับงบประมาณ ทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท ซึ่ง อสย.จะใช้กระจายช่วยเหลือไปทั่วประเทศ ด้วยการเข้าซื้อนำตลาดในราคา กก.ละ 1-2 บาท
นายอารี กล่าวต่อไปว่า แม้จะยังไม่สามารถระบุราคาที่ อสย. จะประกาศเพื่อรับซื้อยางพาราแผ่นดิบจากสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้ จนกว่าจะมีการประกาศจากรัฐบาลในวันที่ 2 พ.ค. แต่คาดว่าราคายางพาราที่ทาง อสย.รับซื้อ จะสูงถึง กก.ละ 120 บาท อย่างแน่นอน
ด้านนายชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ ผู้อำนวยการ อสย. กล่าวว่า ปัจจุบัน อสย. ได้ดำเนินงานตามโครงการพัฒนาตลาดและแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าตามนโยบายรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2553 โดยทำการก่อสร้างโรงงานผลิตยางแท่ง STR 20 พร้อมติดตั้งเครื่องจักรขนาดกำลังผลิตปีละ 20,000 ตัน และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ขึ้นจำนวน 3 แห่งใน 3 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ อุดรธานี และนครพนม รวมทั้งสร้างศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพาราและจำหน่ายผลผลิต 6 แห่ง ในจังหวัดพะเยา พิษณุโลก กำแพงเพชร ชัยภูมิ เลย และนครพนม เพื่อรองรับผลผลิตยางพาราจากเกษตรกรในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ โดย จ.พะเยา จะรองรับผลผลิตยางพาราของ จ.พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน ลำพูน และลำปาง
ส่วนกรณีการเข้าซื้อนำตลาดของศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพาราและจำหน่ายผลผลิต รวมทั้งสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนั้น นายชนะชัยเปิดเผยว่า การดำเนนินการในเรื่องดังกล่าวจะมีขั้นตอนในการรับซื้อ โดยจะขยับราคาขึ้นเป็นลำดับแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่ กก.ละ 1-2 บาทต่อวัน และจะไม่ประกาศรับซื้อในราคาสูงสุดตั้งแต่ต้น เพราะอาจจะเสี่ยงกับการขาดทุนได้