ธปท. โต้ “บีไอเอส” ยืนยัน “สินเชื่อ” ปีนี้ยังไม่ร้อนแรงจนน่าเป็นห่วง แต่มีการเติบโตจากฐานที่ต่ำ ยันมีการเกาะติดข้อมูลใกล้ชิด มั่นใจ ศก. แข็งแกร่ง ขณะที่ภาคอสังหาฯ กังวลฟองสบู่ เพราะมีการปล่อยกู้ทะลุ 100%
นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ได้ออกมาเตือนว่า สินเชื่อของไทยโตเร็วเกินไปหรือไม่นั้น โดยยืนยันว่า ธปท. ไม่มีการละเลยในเรื่องดังกล่าว และได้มีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว เพราะในการติดตามดูการขยายตัวของสินเชื่อ ถือเป็นหนึ่งใน 7 ปัจจัยสำคัญ ที่ทาง ธปท.ติดตามดูว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตยุโรปอย่างไร
“เรื่องสินเชื่อที่ทาง บีไอเอส เขาออกมาเตือน ยืนยันว่า เราไม่ได้ละเลย แต่อย่าลืมว่า สินเชื่อเราโตมาจากฐานสินเชื่อที่ต่ำมาตลอด ตั้งแต่สมัยเกิดวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์สในปี 2551-2552 แล้ว ซึ่งเท่าที่ดูก็ยังไม่มีสัญญาณน่าห่วง”
สำหรับปัจจัยที่ ธปท.ติดตามดูผลกระทบจากวิกฤตยุโรปใน 7 ด้าน เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัด หนี้ครัวเรือน หนี้ต่างประเทศ การขยายตัวของสินเชื่อ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในการติดตามดูเบื้องต้น เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่ดี น่าจะรับมือผลกระทบได้ระดับหนึ่ง
ด้านนายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสำนักประเมินค่าทรัพย์สิน เพื่อการเก็บภาษีของฮ่องกง พบว่า ตลาดที่อยู่อาศัยฮ่องกงยังมีสุขภาพดี ราคาไม่ได้ตกต่ำลง หรือเกิดอาการฟองสบู่แตก แต่ปริมาณการซื้อขายลดลงอย่างชัดเจน โดยปี 2554 ลดลงถึงร้อยละ 38 หรือต่ำกว่า 85,000 หน่วย ขณะที่ที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ปี 2547-2554 เติบโตเพียงร้อยละ 1 ต่อปี โดยเฉพาะปีล่าสุด เติบโตน้อยเป็นพิเศษ อันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมการเก็งกำไรของรัฐบาล
ทั้งนี้ หากใครซื้อบ้าน และโอนภายในเวลา 6 เดือน ต้องเสียค่าธรรมเนียมถึงร้อยละ 15 และหากถือครองเกิน 6 เดือน แต่โอนภายใน 1 ปี ต้องเสียค่าธรรมเนียมที่ร้อยละ 10 แต่ถ้าถือครองเกิน 1 ปี แต่โอนภายใน 2 ปี ต้องเสียค่าธรรมเนียม ร้อยละ 5 เพื่อปรามการเก็งกำไรระยะสั้น โดยค่าธรรมเนียมนี้ต้องจ่ายรัฐภายใน 30 วัน นับจากวันทำสัญญาซื้อขาย ผู้ฝ่าฝืนต้องเสียค่าปรับ 10 เท่า หรือเท่ากับ 1.5 เท่าของราคาบ้าน ถือเป็นการผิดกฎหมายอาญา
กรณีดังกล่าวทำให้เห็นว่า ประเทศไทยยังอำนวยสินเชื่อกันอย่างแทบไม่มีข้อจำกัด หรืออำนวยสินเชื่อถึงประมาณร้อยละ 100 ของมูลค่าที่สำคัญที่ประเมินได้ อาจจะสูงกว่ามูลค่าตลาดก็เป็นได้ โดยสถาบันการเงินอำนวยสินเชื่อกันอย่างขนานใหญ่ และ ณ อัตราเงินกู้ที่ประมาณ 100% ซึ่งอาจกลายเป็นฟองสบู่ที่รอวันแตกในอนาคตได้ ต่างจาก ฮ่องกง พยายามหยุดยั้งการเก็งกำไร ประสบการณ์ของฮ่องกงจึงสมควรศึกษายิ่ง