ธปท.ชี้ ภาคการเงิน และสถาบันการเงินของไทย มีพร้อมรับมือวิกฤตยุโรป พร้อมระบุ ปัญหาน่าจะเกิดผลกระทบกับไทยใน 3 ด้าน คือ การค้าระหว่างประเทศ ระบบสถาบันการเงิน และตลากการเงิน ซึ่งจะมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน อัตราแลกเลี่ยน และสภาพคล่อง คาดไม่กระทบรุนแรง
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวหลังการประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.) ชุดเล็ก ร่วมกับหน่วยงานเศรษฐกิจตามคำสั่งของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ในเรื่องสถานการณ์ปัญหายุโรป และผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดกับประเทศไทย ในช่วงเช้าวันนี้ โดยระบุว่า ธปท.ได้ประเมินสถานการณ์ยุโรปให้ที่ประชุมฟังว่า ปัญหาน่าจะเกิดผลกระทบกับไทยใน 3 ด้าน คือ ด้านการค้าระหว่างประเทศ ด้านระบบสถาบันการเงิน และด้านตลากการเงิน ซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน อัตราแลกเลี่ยน และสภาพคล่อง
“ซึ่งในเรื่องระบบสถาบันการเงิน และตลาดการเงิน ธปท.มีการติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว และมีเครื่องมือต่างๆ ไว้พร้อมรับมืออยู่แล้ว แต่เท่าที่ดูตอนนี้ ยังไม่ได้กระทบต่อตลาดการเงิน หรือค่าเงินบาทมากนัก ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวระดับ 31 ถึง ใกล้ๆ 32 บาทต่อเหรียสหรัฐ ซึ่งดูโดยรวมยังเป็นระดับที่ตลาดรับได้ไม่กระทบอะไรมาก ส่วนการกู้เงินที่สถาบันการเงินยุโรปมากู้เรา หรือสถาบันการเงินเราไปกู้มีมากน้อยแค่ไหนนั้น เท่าที่ดูข้อมูลขณะนี้ก็มีไม่มาก พอรับมือได้ ไม่น่ามีปัญหา”
ทั้งนี้ ธปท.มองว่า ประเทศไทยมีทุนสำรองที่สูงพอสมควร มีสถาบันการเงินที่เข้มแข็ง เงินกองทุนสูง มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 3% ซึ่งมีความยืดหยุ่นมีช่องที่จะลด หรือเพิ่มเพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจได้ ค่าเงินบาทก็เคลื่อนไหวยืดหยุ่น นโยบายการคลังก็ยังดี มองโดยรวม เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านวิกฤตยุโรปไปได้ แต่สิ่งที่ต้องดูคือ ภาคการส่งออกที่เป็นตัวทำให้อัตรการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) โตจะมีปัญหามากน้อยแค่ไหน ซึ่งปีนี้ความท้าทายของภาคการต่างประเทศจะมีมากขึ้น