ผู้นำฝ่ายค้าน ชี้ การลงพื้นที่ปลายน้ำ-ต้นน้ำ ของนายกฯ ไม่แตกต่าง เพราะไร้ความชัดเจนเรื่องพื้นที่รับน้ำ ไม่ประกาศชัด บริหารไม่ได้ ห่วงนายกฯ พูดไม่ให้กั้นน้ำกันเอง เท่ากับแต่ละจังหวัดยังไม่ได้ตกลงกัน ส่วนผลกระทบวิกฤตหนี้ยุโรป แนะต้องติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องส่งออกติดลบแล้ว 4 เดือนแรก มีเอี่ยวหรือไม่
วันนี้ (14 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการลงพื้นที่ปลายน้ำ กลางน้ำ ต้นน้ำ ของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ไม่แตกต่างไปจากการลงพื้นที่เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะเป็นการลงพื้นที่ที่ไม่มีคำตอบในการแก้ปัญหาเชิงระบบ คราวที่แล้วมีการระบุว่า จะสะสางเรื่องเงินเยียวยาให้เรียบร้อย แต่ผ่านมาหลายเดือน ปัญหาก็ยังเป็นเรื่องเดิมที่ประชาชนเคยร้องเรียนไว้ อีกทั้งยังไม่มีควมชัดเจนเกี่ยวกับพื้นที่รับน้ำ มีเพียงแค่การติดตามความคืบหน้าในการใช้เงินงบประมาณ ติดตามเรื่องการขุดลอกคูคลอง หรือการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น
แต่ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับพื้นที่รับน้ำ ซึ่งไม่มีการประกาศให้ชัด ทำให้บริหารไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องประกาศล่วงหน้า กำหนดกติกาให้ชัดว่า จะมีการชดเชยเยียวยาให้ประชาชนอย่างไร หากมีการใช้พื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่รับน้ำ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่มีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการบริหารจัดการไปจากเดิม นอกจากนี้ การที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่ให้แต่ละจังหวัดกั้นน้ำกันเอง แสดงว่า ยังไม่ได้บูรณาการตกลงกันระหว่างจังหวัด ว่า จะมีการระบายน้ำผ่านจากจังหวัดต่างๆ เข้ามาอย่างไร จะมีกี่แผน ซึ่งหากในปีนี้ปริมาณน้ำฝนเท่ากับปีที่แล้วก็น่าเป็นห่วงมาก เพราะยังไม่เห็นความแตกต่างที่เป็นรูปธรรมในการบริหารของรัฐบาล
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป ที่จะกระทบต่อไทย ว่า ได้เคยเรียกร้องรัฐบาลไปนานแล้วว่า ควรจะเตรียมการรับมือกับเรื่องนี้ แต่เพิ่งเห็นรัฐบาลตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามแม้จะช้าแต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะเรื่องนี้ต้องติดตามใกล้ชิด เนื่องจากไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดในหลายด้าน วิกฤตในยุโรปจึงส่งผลกระทบต่อไทยด้วย ซึ่งรัฐบาลต้องไล่ดูว่าตัวเลขส่งออกที่ยังติดลบในช่วง 4 เดือนแรก นอกจากปัจจัยเรื่องน้ำท่วมแล้ว มีปัญหาอะไร และในเรื่องการลงทุนที่จะเข้ามารวมถึงการเงินที่เชื่อมโยงในเชิงระบบธนาคาร
ทั้งนี้ เชื่อว่า ไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตยุโรปแล้ว โดยดูได้จากเรื่องส่งออกที่ธุรกิจในประเทศฟื้นตัวหลังน้ำท่วมแล้ว ปัญหาจึงอยู่ที่การส่งออกมากกว่า ดังนั้น รัฐบาลต้องมีแผนรองรับ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เช่น หากกระทบเรื่องการส่งออก ก็ต้องหาตลาดใหม่มาทดแทน แต่ถ้าเป็นเศรษฐกิจภาพรวม ต้องดูว่าจะปรับให้เศรษฐกิจในประเทศมีบทบาทสำคัญขึ้น เพื่อทดแทนรายได้ที่หายไปและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร
ส่วนที่มีผลสำรวจจากต่างประเทศ ว่า ค่าครองชีพไทยสูงติดอันดับ 81 ของโลก ขยับจากปีที่แล้วถึง 7 อันดับนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว แต่เรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นนั้น ไม่ต้องรอรายงานจากต่างประเทศ เพราะค่าครองชีพสูงนั้นเป็นเรื่องที่ประชาชนรับทราบกันอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นปัญหาที่ประสบอยู่ในชีวิตประจำวัน