xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด “บีโอไอ” ไฟเขียว 11 โครงการลงทุนหลังน้ำท่วม มูลค่า 5 พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมว.อุตฯ เผยบอร์ด “บีโอไอ” ไฟเขียว 11 โครงการลงทุนหลังอุทกภัย มูลค่ารวมกว่า 5 พันล้านบาท ระบุ นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมั่นใจลงทุนในพื้นที่เดิม และมีโครงการใหม่ย้ายเข้าพื้นที่เคยถูกน้ำท่วมด้วย

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการตามมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 โดยระบุว่า ที่ประชุมได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน 11 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 5,227.6 ล้านบาท ดังนี้

1.กิจการผลิตขนมขบเคี้ยว ของบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 2,387 ล้านบาท โดยโครงการนี้เป็นการขยายกิจการของบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด และได้รับการส่งเสริมตามาตรการสำหรับโครงการใหม่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ทั้งนี้ เนื่องจากโรงงานที่ จ.ลำพูน ใช้พื้นที่เต็มแล้ว จึงไม่สามารถขยายการผลิตได้ จึงมาตั้งโรงงานใหม่ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อให้อยู่ใกล้กับคลังสินค้าของลูกค้าหลักในภาคกลาง

2.กิจการผลิตขนมขบเคี้ยว ของบริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 250 ล้านบาท โดยโครงการนี้เป็นการขยายกิจการในพื้นที่เดิมของไทยกูลิโกะ เพื่อรองรับความต้องการในประเทศที่มีมากขึ้น รวมทั้งขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์กูลิโกะไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งได้รับการส่งเสริมตามมาตรการสำหรับโครงการใหม่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยจะลงทุนในสวนอุตสาหกรรมบางกะดี จ.ปทุมธานี

3.กิจการผลิตเครื่องจักรสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัท นิเด็ค แมทชีนเนอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 3.8 ล้านบาท ได้รับส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการจากวิกฤตอุทกภัย โดยย้ายกิจการจากสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ไปตั้งใน จ.ปทุมธานี

4.กิจการเคลือบผิวชิ้นงานโลหะสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของบริษัท บี เอส คามิยะ จำกัด มูลค่า 60 ล้านบาท ได้รับส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการจากวิกฤตอุทกภัย โดยตั้งกิจการในที่ตั้งเดิม คือ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา

5.กิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับใช้ผลิตฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ ของบริษัท ชินเอ พรีซิชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 327 ล้านบาท ได้รับส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการจากวิกฤตอุทกภัย โดยตั้งกิจการในที่ตั้งเดิมที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา

6.กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะ สำหรับใช้ผลิตฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ ของบริษัท เซคชั่น เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 1,139 ล้านบาท ได้รับส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการจากวิกฤตอุทกภัย โดยตั้งกิจการในที่ตั้งเดิม ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา

7. กิจการผลิตกระจกสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัท เอจีซี อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 890 ล้านบาท ได้รับส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการจากวิกฤตอุทกภัย โดยจะย้ายกิจการจากเดิมที่ตั้งในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ไปตั้งที่เขตอุตสาหกรรมของสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ที่ จ.ลำพูน

8.กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะ สำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มูลค่าเงินลงทุน 85 ล้านบาท ได้รับส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการจากวิกฤตอุทกภัยโดยตั้งกิจการในที่ตั้งเดิมที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา

9.กิจการผลิตชิ้นส่วนพลาสติก สำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัท เซ็นต์-เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าลงทุน 62 ล้านบาท ได้รับส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการจากวิกฤตอุทกภัยโดยตั้งกิจการในที่ตั้งเดิมที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา

10.กิจการผลิตสายไฟสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าของบริษัท เอม อิเล็กทริค (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 20 ล้านบาท ได้รับส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการจากวิกฤตอุทกภัย โดยตั้งกิจการในที่ตั้งเดิม ที่ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา และ 11.กิจการผลิตกล่องกระดาษลูกฟูก และพาเลทจากกระดาษลูกฟูก ของบริษัท ยามาดาน (ไทยแลนด์) จำกัด เงินลงทุน 3.8 ล้านบาท ได้รับส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการจากวิกฤตอุทกภัย โดยจะย้ายกิจการจากสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ไปตั้งที่ จ.ชลบุรี

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัยได้อนุมัติให้การส่งเสริม 6 โครงการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อเดินหน้าฟื้นฟูการลงทุน รวมมูลค่าเงินลงทุน 4,403 ล้านบาท โดย 5 ใน 6 ราย จะลงทุนในพื้นที่เดิม เพราะมั่นใจในแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล

ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอได้พิจารณากำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย ทั้งมาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่นำเข้ามาทดแทนเครื่องจักรที่เสียหายจากอุทกภัย มาตรการสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย มาตรการสำหรับนิคม หรือเขตอุตสาหกรรมที่จะลงทุนเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันอุทกภัย และมาตรการสำหรับโครงการลงทุนใหม่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย

“หลังจากการพิจารณาอนุมัติโครงการในวันนี้ จะมีโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมภายใต้มาตรการสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยรอการพิจารณาอนุมัติอีก 42 โครงการ และมีโครงการใหม่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย รอการพิจารณาอนุมัติอีก 19 โครงการ”

ปัจจุบัน มีบริษัทที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยได้รับการอนุมัติให้นำเข้าเครื่องจักรมาทดแทนเครื่องที่เสียหาย รวม 426 โครงการ รวมมูลค่าเครื่องจักร 97,176 ล้านบาท และมีโครงการลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมภายใต้มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งมาตรการสำหรับนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมที่จะลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการลงทุนใหม่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 78 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 41,489 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น