บีโอไออนุมัติ 6 โครงการเดินหน้าฟื้นฟูกิจการหลังน้ำท่วม มูลค่าลงทุน 4,400 ล้านบาทแล้วจากที่ยื่นขอ 30 โครงการมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท พร้อมเตรียมหารือ 11 พฤษภาคมปรับโฉมการส่งเสริมการลงทุนใหม่รับ AEC
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัยน้ำท่วมเมื่อวันที่ 27 เมษายน 55 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุน 6 กิจการมูลค่า 4,403 ล้านบาทซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขพิเศษที่จูงใจกิจการที่ประสบภาวะน้ำท่วมให้ตั้งกิจการในจังหวัดเดิม โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และกำหนดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้ 150% ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนของส่วนลงทุนใหม่ แต่หากย้ายไปตั้งในจังหวัดอื่นจะกำหนดวงเงินเพิ่มเติมจากเดิมลดลงเหลือเพียง 100% เท่านั้น แต่ยังคงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 8 ปี
สำหรับ 6 กิจการประกอบด้วย 1. กิจการผลิตโลหะขึ้นรูป ของบริษัท เอ.บี.พี. สเตนเลส ฟาสเทนเนอร์ จำกัด มูลค่า 164 ล้านบาท ตั้งกิจการในที่เดิม คือสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ. พระนครศรีอยุธยา 2. กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูปของบริษัท โซเด นากาโน (ไทยแลนด์) จำกัด มูลค่า 103 ล้านบาท อยู่ที่เดิม คือนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) จ.พระนครศรีอยุธยา 3. กิจการผลิตชิ้นส่วนอะลูมิเนียมฉีดขึ้นรูปของบริษัท ไดชิน จำกัด มูลค่า 1,125 ล้านบาท ตั้งกิจการในสถานที่เดิม คือเขตอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี 4. กิจการผลิตเครื่องจักรสำหรับงานอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนเครื่องจักร และการซ่อมแซมเครื่องจักร ของบริษัท ฮิคาริ เทค (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 125 ล้านบาท ตั้งกิจการในที่ตั้งเดิม คือสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา
5. กิจการผลิต Capacitor หรือชิ้นส่วนในการผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัท เอ็นอีซี โทคิน อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 2,319 ล้านบาท ย้ายจากเขตอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี ไปนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา 6. กิจการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกของบริษัท โนเบิ้ล พรีซิชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด มูลค่า 566 ล้านบาท ตั้งกิจการที่สถานที่ตั้งเดิม คือนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค)
รมว.อุตสาหกรรมยังกล่าวอีกว่า วันที่ 11 พฤษภาคมนี้จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการบีโอไอโดยมีวาระสำคัญในการพิจารณาปรับปรุงแผนการส่งเสริมการลงทุนบีโอไอใหม่เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 โดยบีโอไอจะต้องมีการปรับรูปแบบการส่งเสริมการลงทุนทั้งภายในประเทศเองและการส่งเสริมให้กิจการไทยไปลงทุนยังต่างประเทศ โดยส่วนของการไปลงทุนต่างประเทศรูปแบบเบื้องต้นจะต้องมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการส่งเสริมการลงทุน ฯลฯ ส่วนในประเทศคงจะมีการลดสิทธิประโยชน์ในบางกิจการที่เริ่มไม่มีการลงทุนหรือไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่คนไทย ขณะที่บางรายการจะเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นต้น
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า กิจการที่ประสบภาวะน้ำท่วมในนิคมฯประมาณ 838 กิจการ แต่บริษัทจะต้องเหลือสิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดาจึงจะขอรับสิทธิการส่งเสริมการลงทุนได้ ซึ่งขณะนี้มีกิจการที่ขอยื่นเข้าร่วมโครงการดังกล่าวทั้งสิ้น 30 ราย มูลค่าการลงทุนประมาณ 11,500 ล้านบาท และขณะนี้ได้อนุมัติให้การส่งเสริมแล้ว 6 กิจการ