xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ ลดจีดีพี Q1 เหลือ 0.3% กังวลค่าครองชีพพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการเศรษฐกิจไตรมาสแรกลงเหลือ 0.3% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 1% ระบุแรงขับเคลื่อนภาคเอกชนเริ่มแผ่ว เหตุกังวลค่าครองชีพพุ่ง ทั้งราคาอาหาร-น้ำมัน ขณะที่ภาคการส่งออกยังหดตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของจีดีพีประจำไตรมาส 1 ปี 2555 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งน้อยกว่าประมาณการเดิมที่มองว่า อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 1.0 แม้การใช้จ่ายในประเทศจะมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 1/2555 แต่ก็คงต้องยอมรับว่า โมเมนตัมในเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนบางรายการในช่วงท้ายๆ ไตรมาสแรก เริ่มสะท้อนภาพที่อ่อนไหวต่อภาระค่าครองชีพ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นตามราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และราคาพลังงาน ขณะที่ต้นทุนการผลิตที่เร่งตัวขึ้นจากผลของราคาพลังงาน และวัตถุดิบ ก็เพิ่มแรงกดดันต่อภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ การฟื้นตัวกลับสู่สถานการณ์ปกติของการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังต้องใช้เวลา ทำให้ภาคการผลิตและการส่งออก ยังไม่สามารถรักษาจังหวะการขยายตัวอย่างมั่นคงไว้ได้ ซึ่งเมื่อประกอบเข้ากับระดับการแข่งขันที่เข้มข้นจากประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ทำให้ภาพรวมของการผลิต และการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา ยังคงอยู่ในภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ร้อยละ 7.1 และร้อยละ 4.0 แต่ก็มีความรุนแรงน้อยกว่าที่หดตัวร้อยละ 34.2 และร้อยละ 5.2 จากผลของอุทกภัยที่รุนแรงในช่วงไตรมาส 4 ปี 2554

ทั้งนี้ ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 ยังให้ภาพที่ปะปนกันระหว่างแหล่งที่มาของแรงขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ โดยการเร่งฟื้นฟู-ซ่อมแซม-ทดแทนส่วนที่เสียหายจากผลกระทบน้ำท่วมปลายปี 2554 ของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ ช่วยหนุนให้การใช้จ่ายภายในประเทศพลิกกลับมาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นมาที่ร้อยละ 4.1 เทียบกับไตรมาส 4 ปี 2554 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนนั้น ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.0 พลิกจากที่หดตัวร้อยละ 3.7 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมว่า การฟื้นตัวของกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่น่าจะกลับมาอย่างพร้อมเพรียงกันได้ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า อาจช่วยหนุนให้ภาคการผลิต และภาคการส่งออกพลิกกลับมาบันทึกตัวเลขการเติบโตได้ในช่วงไตรมาสที่ 2/2555 พร้อมๆ กับเครื่องชี้เศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆ แต่ก็คงต้องติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต ภัยธรรมชาติ และทิศทางเศรษฐกิจโลก ที่จะมีผลต่อการประคองโมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ต่อไป และสำหรับภาพรวมในปี 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยที่กรอบร้อยละ 4.5-6.0 (ค่ากลางร้อยละ 5.0) ไว้เช่นเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น