xs
xsm
sm
md
lg

คาดเงินเฟ้อครึ่งปีหลัง...ปรับตัว ผลผวงน้ำมันพุ่งดันต้นทุนผลิตขยับขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมายังอยู่ในช่วงชะลอตัว แม้จะมีแรงผลักจากการขยับขึ้นของราคาทั้งในหมวดอาหาร/เครื่องดื่ม และในหมวดที่ไม่ใช่อาหาร/เครื่องดื่ม ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขนส่ง หลังราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตามราคาตลาดโลก และการเพิ่มการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ มีผลต่อเนื่องมาที่ภาพของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคค่อนข้างชัด

ทั้งนี้สถานการณ์เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การแข็งค่าของเงินบาทช่วยลดทอนผลกระทบจากการเร่งตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกต่อราคาขายปลีกในประเทศไว้ได้บางส่วนในเดือนก.พ. โดยในระหว่างเดือนนั้น ราคาเฉลี่ยน้ำมันในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0-6.5 ในส่วนของเบนซิน และร้อยละ 3.0 ในส่วนของดีเซล (ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งการปรับตามราคาตลาดโลก และการทยอยเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ) ท่ามกลางการทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.1

ขณะที่แรงหนุนระดับราคาสินค้าผู้บริโภคในลักษณะเดือนต่อเดือนยังมีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าผู้บริโภคในกลุ่มพื้นฐานที่ราคาอยู่ในทิศทางทรงตัว-ขยับขึ้นจากระดับในเดือนก่อนหน้า (MoM) เป็นเดือนที่ 33 ติดต่อกัน

สำหรับแนวโน้มและประเด็นสำคัญของอัตราเงินเฟ้อไทยปี 2555 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อาจทรงตัวในระดับสูงเป็นเวลานาน ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมทางการเงินที่ผ่อนคลายจากการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำและการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรป ซึ่งเอื้อต่อกระแสเงินลงทุนไหลเข้าตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนข้อพิพาทและมาตรการตอบโต้ระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตกและอิสราเอล อาจทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อมีภาพที่ชัดขึ้นในระยะข้างหน้า แม้ว่าปัจจัยเรื่องฐานการคำนวณเปรียบเทียบ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจชะลอลงมามีค่าเฉลี่ยที่ระดับประมาณร้อยละ 3.3-3.4 (YoY) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 จากระดับเกินร้อยละ 4.0 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554

แต่ผลกระทบระลอกสอง (Second Round Effect) หลังการปรับเพิ่มราคาน้ำมัน-พลังงาน และค่าจ้างแรงงาน อาจเพิ่มเงินเฟ้อคาดการณ์ ซึ่งย่อมจะทำให้แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากภาครัฐสามารถทยอยลดมาตรการอุดหนุนราคาพลังงาน และเศรษฐกิจไทยยังสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวไว้ได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ปัจจัยเพิ่มแรงกดดันด้านต้นทุนผู้ผลิต และหนุนระดับราคาสินค้าผู้บริโภค ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องต่อการไล่ระดับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ให้มีโอกาสสูงกว่าร้อยละ 4.0 (YoY) นั้น จะเริ่มก่อตัวขึ้นในระหว่างไตรมาสที่ 2/2555 อาทิ การปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดด การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเอฟที แรงหนุนราคาอาหารที่อาจขยับขึ้นตามโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะมีการกลับมาทยอยเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อปี 2555 นั้น เนื่องจากประเด็นแวดล้อมของเงินเฟ้อล่าสุดไม่แตกต่างไปจากที่คาด ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงมุมมองเดิมว่า เงินเฟ้อครึ่งปีแรกจะอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักจากผลของฐานเปรียบเทียบ แต่เงินเฟ้อครึ่งปีหลังจะมีโอกาสเร่งตัวขึ้นตามกระบวนการส่งผ่านแรงกดดันด้านต้นทุนของผู้ผลิต

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 จะมีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 3.9 (กรอบการคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5-4.5) ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2555 อาจมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าปี 2554 มาอยู่ที่ ร้อยละ 3.0 (กรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.6-3.6) ทั้งนี้ คงต้องจับตาทิศทางการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังมีโอกาสขยับขึ้นเข้าใกล้กรอบบนของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปัจจุบันร้อยละ 0.5-3.0 ของธปท.ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นช่วงที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะกลับมาสูงขึ้น พร้อมๆ กับโมเมนตัมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอาจมีนัยตามมาต่อการกำหนดจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของธปท. ในช่วงเวลานั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น