xs
xsm
sm
md
lg

“ยงยุทธ” ปัดขัดแย้ง กทม. แต่ถ้ายังบกพร่องป้องกันน้ำท่วมต้องมีบทลงโทษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยงยุทธ วิชัยดิษฐ (แฟ้มภาพ)
“ยงยุทธ” ปัดขัดแย้ง กทม.เรื่องขุดลอกคูคลอง แต่เหน็บไม่ใช่รัฐอิสระต้องทำงานร่วมมือกัน ย้ำชัดแก้น้ำท่วมเป็นภารกิจที่ต้องร่วมเป็นร่วมตาย ขู่ลั่น ผวจ.คนใดบกพร่องมีบทลงโทษแน่ รวมทั้ง กทม.ด้วย พร้อมยันปีนี้ไม่มีนโยบายเก็บน้ำในเขื่อนเยอะ หวั่นซ้ำรอยน้ำท่วมกทม.อีก

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงการเร่งรัดให้ กทม.ขุดลอกคูคลองเพื่อเตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัยว่า รัฐบาลไม่ได้กดดัน กทม. เพราะปกติก็ร่วมมือกันทำงาน กทม.ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล ไม่ใช่รัฐอิสระ กทม.เองคงเข้าใจว่าปัญหาอุทกภัยเป็นปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของ กทม.และประชาชน กทม.เท่านั้น แต่จะต้องเป็นระบบที่สอดคล้องกันทั่วประเทศ ดังนั้นมีทางเดียว คือ กทม.จะต้องรีบดำเนินการขุดลอกคู คลองให้เสร็จก่อนฤดูฝนมา

สำหรับคลองสำคัญ เช่น คลองมหาสวัสดิ์ คลองแสนแสบ รัฐบาลจะมอบให้หน่วยงานราชการ กระทรวง ทบวง กรม และกองทัพได้ช่วยกันรับผิดชอบในแต่ละคลอง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ เพื่อให้น้ำที่มาจากตอนบนได้ไหลลงทะเลได้สะดวก

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจาก ครม.มีหนังสือไปยัง กทม.ให้เร่งรัดขุดลอกคูคลองไปเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ได้มีการตรวจสอบหรือไม่ว่ากทม.เริ่มปฏิบัติงานแล้วหรือยัง นายยงยุทธกล่าวว่า กำลังติดตามอยู่ ซึ่ง กทม.ก็ดำเนินการไปแล้วส่วนหนึ่ง เพราะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกทม.ที่ได้รับเลือกจากประชาชน รัฐบาลก็เข้าไปช่วยเสริมการทำงานให้เสร็จเรียบร้อย ผลประโยชน์ก็จะตกกับประชาชน ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ส่วนที่ กทม.ระบุว่ายังไม่ได้รับงบประมาณ 1,900 ล้านบาท ตามที่รัฐบาลอนุมัติให้นั้น นายยงยุทธกล่าวว่า ตนได้กำชับสำนักงบประมาณว่าให้อนุมัติโครงการไปเพื่อที่ กทม.จะได้ดำเนินการจัดจ้าง แต่ยังไม่ต้องลงนามในสัญญา เมื่อวงเงินลงไปแล้วค่อยทำสัญญาได้ โดยขณะนี้ให้ กทม.หาผู้จัดจ้างไปก่อน เช่นเดียวกับจังหวัดต่างๆ หากใช้กระบวนการประมูลแบบอีอ็อกชั่นล่าช้า ก็เป็นดุลยพินิจที่จะใช้วิธีการประมูลแบบพิเศษ

ผู้สี่อข่าวถามว่า การทำงานระหว่างรัฐบาลกับกทม.ยังดูมีปัญหา การแก้ปัญหาน้ำท่วมจะสัมฤทธิผลหรือไม่ รองนายกฯกล่าวว่า ไม่มี เพราะร่วมชะตากรรมเดียวกัน น้ำท่วมมาก็ไม่ใช่ท่วมเฉพาะต่างจังหวัด หรือ กทม. ฉะนั้น เป็นภารกิจที่ต้องร่วมเป็นร่วมตายกัน ส่วนตัวผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ที่มีปัญหา หากมีความผิดชัดเจน บกพร่องชัดเจน มันมีมาตราการทางกฎหมายอยู่แล้ว ตนในฐานะรมว.มหาดไทย เป็นผู้ดูแล กทม. ก็มีมาตรการในการบริหารที่จะใช้กับ กทม.อยู่แล้ว อย่าได้กังวลส่วนนั้น ซึ่งตนยืนยันว่าจะไม่มีการเล่นการเมืองแบบอุทกภัยอีกแล้ว เพราะเจ้าหน้าที่ประจำของ กทม.หลายคน ตนก็ได้ประสานงานกันอยู่ตลอดเวลา

เมื่อถามว่า หาก กทม.ทำไม่สำเร็จจะมีบทลงโทษหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า มีมาตรการในการบริหารตาม พ.ร.บ.บริหารราชการกรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทยก็จะต้องเป็นคนดูแลมาตรฐานในการปฏิบัติงานของ กทม. ซึ่งตามกฎหมายก็เขียนไว้ว่า รมว.มหาดไทยมีอำนาจในการปลดผู้ว่าราชการ กทม.ได้ แต่ตนเห็นว่าไม่ควรพูดอะไรที่รุนแรงอย่างนั้น เพราะเป็นมาตรการสุดท้ายในการทำงานของหน่วยราชการ ทั้งนี้ ตนยืนยันว่ายังทำงานร่วมกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร์ ผู้ว่าราชการ กทม.ได้

นายยงยุทธยังกล่าวถึงกรณีที่มีการเร่งรัดให้รีบปล่อยน้ำให้เขื่อนต่างๆ ตามภาคเหนือที่มีปริมาณน้ำมาก เนื่องจากใกล้กับฤดูฝนแล้วว่า การเก็บน้ำในเขื่อนมากอาจจะมีเจตนาที่ดีในส่วนหนึ่งคือไม่อยากจะขึ้นค่าไฟกับประชาชน อยากจะใช้พลังน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า จึงกักเก็บน้ำไว้มาก ไม่เช่นนั้นจะต้องใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นที่สิ้นเปลือง เช่น น้ำมัน ถ่านหิน เป็นต้น แต่นึกไม่ถึงว่าน้ำฝนจะมีปริมาณที่มาก แต่ในปี 2555 นี้ เมื่อเรามีประสบการณ์แล้ว ก็จะต้องศึกษาในเรื่องการกักเก็บน้ำ สภาวะอากาศให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมว่าน้ำควรจะกักเก็บไว้เท่าใด แต่จะให้มากอย่างปี 2554 คงไม่ได้

ทั้งนี้ สำหรับการป้องกันนั้นจะต้องระบายน้ำออกมาเป็นระยะและให้ถูกต้องตามสภาวะของอากาศด้วย เพราะเกรงจะกระทบเรื่องค่าไฟของประชาชน รวมถึงหากกักเก็บไว้มาก แล้วเจอปริมาณฝนอีกก็จะมีปัญหา อย่างไรก็ตาม สำหรับค่าไฟฟ้าจะขึ้นอย่างไรจะต้องแก้ปัญหาในส่วนนั้น แต่คงต้องยกเลิกนโยบายที่จะกักเก็บน้ำไว้มาก
กำลังโหลดความคิดเห็น