xs
xsm
sm
md
lg

เกมรับมือค่าแรง 300 บาท/วัน รีดศักยภาพ พนง.-ต่อยอดจุดเด่นสินค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


1 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ในแง่ของผู้ใช้แรงงานย่อมเป็นผลดีเพราะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวก็เริ่มขยายตัวตามไปด้วยเช่นกัน...ส่วนการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างเป็น 300 บาท/วัน จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจมากน้อยแค่ไหน ผู้ประกอบการมีวิธีรับมือกับเรื่องดังกล่าวหรือไม่

อภิรักษ์ จาตุกัญญาประทีป พาร์ตเนอร์บริการด้านธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท ดีลอยท์ ทูช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด ที่ปรึกษาด้านการการลงทุนรายใหญ่อันดับ 1 ใน 4 ของโลก แสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าวว่า หากเปรียบเทียบค่าจ้างแรงงานของไทยกับประเทศในภูมิภาคนี้ ก็ต้องว่า สิงคโปร์ มีเรตค่าจ้างที่สูงกว่า ขณะที่มาเลเซีย อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ส่วนบรูไน นั้นเป็นประเทศที่ไม่เน้นการผลิตคงเปรียบเทียบด้วยไม่ได้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว และฟิลิปปินส์ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าไทย

อย่างไรก็ตาม นujยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะปัญหาใหญ่ที่น่ากังวล คือค่าจ้างแรงงานที่เติบโตแบบก้าวกระโดดในครั้งนี้มากกว่า โดยเฉพาะใน กทม.จากเดิม 215 บาท ขึ้นมาเป็น 300 บาท นับเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 39 หรือ 40% เรื่องนี้จะกระทบกับธุรกิจเอสเอ็มอี มาก เพราะส่วนใหญ่ยังไม่มีศักยภาพมากพอในการลงทุนนำเครื่องจักรเข้ามาชดเชยต้นทุนแรงงานคนที่อยู่ในระดับสูงได้ โดยจากการสำรวจพบว่า เอสเอ็มอีมีต้นทุนเรื่องอัตราค่าจ้างแรงงานสูงถึง 16% และเมื่อต้นทุนนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถแบกรับกับต้นทุนในครั้งนี้ได้แค่ไหน กล่าวคือ ต้องมีกำไรที่เพิ่มขึ้นอีก 6-7% เพื่อมาแบกรับต้นทุนในส่วนนี้ ดังนั้น ต้นทุนที่ก้าวกระโดดครั้งนี้น่าจะสร้างผลกระทบได้มาก เพราะระยะเวลาที่มีให้มองว่ายังไม่เพียงพอต่อการปรับตัวในหลายธุรกิจ

“ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบหนัก คือ กลุ่มบริการ ธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้คนมาเป็นผู้ปฏิบัติ อย่างเช่นธุรกิจโรงแรม ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจแปรรูปอาหาร ที่ต้องใช้ฝีมือแรงงาน โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เพราะหลากหลายธุรกิจในเอสเอ็มอียังไม่มีทุนมากพอที่จะลงทุนในด้านเครื่องจักรแบบทันทีทันใด ...ทางทฤษฏีนั้นทำได้ แต่เวลาปฏิบัติจริงมองว่ายังไม่พร้อม เพราะบางธุรกิจด้วยขนาดที่มีอยู่ก็ยังไม่พร้อมที่จะนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ เพราะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ไม่เหมือนรายใหญ่ ที่ขนาดธุรกิจมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงกว่า ทำให้คุ้มค่ากับการลงทุนเครื่องจักร”

เข้าถึงแหล่งทุนยาก..โอกาสรอดก็น้อย
สำหรับนโยบายช่วยเหลือของภาครัฐต่อผู้ประกอบการ เช่นการนำผลต่างค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่ม นำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 1.5 เท่าของค่าแรงขั้นต่ำ ตรงนี้เอสเอ็มอีจะได้รับประโยชน์ เนื่องจากเป็นการช่วยลดการเสียภาษี ขณะเดียวกัน อีกมาตรการคือ การผลักดันให้เอสเอ็มอีแบงก์เป็นแหล่งเงินทุน ปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจและการลงทุน หรือซื้อเครื่องจักร มองว่า..ทางทฤษฏีนั้นทำได้ แต่ในแนวทางปฏิบัติ การปล่อยสินเชื่อทุกธนาคาร จะพิจารณาจากฐานะทางการเงินที่มั่นคงของผู้ขอสินเชื่อด้วย เพราะทุกธนาคารต้องควบคุมความเสี่ยง ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าเอสเอ็มอีที่จะผ่านข้อกำหนดเหล่านี้ยังมีไม่มาก ทำให้การเข้าหาแหล่งเงินทุนก็เป็นเรื่องที่ยากลำบากเช่นกัน

เอสเอ็มอีกับสิ่งที่ควรแก้ไข
ดังนั้น เอสเอ็มอีควรหาจุดต่างของตนเอง หาจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ หรือบริการทีแตกต่างต่างจากรายอื่น เพื่อสามารถนำไปแข่งขันในตลาดได้ เพราะถ้าทำเหมือนกับของชาวบ้านที่มีอยู่ทั่วไปก็จะลำบาก อีกทั้งจุดต่างนี้ต้องสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจได้ เพราะถ้าทำได้นั่นก็คือโอกาสทางธุรกิจ โอกาสในการลงทุน และโอกาสในการนำเครื่องจักรเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าแรงได้มาก หากธุรกิจยังเล็กโอกาสที่จะไปลงทุนเพื่อซื้อเครื่องจักรมาใช้งานแล้วเปรียบเทียบกับค่าแรงงานบางทีอาจไม่คุ้ม

“ดีลอยท์ มองว่า เอสเอ็มอีต้องมองในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาด้วย ต้องมองหาแรงงานที่มีฝีมือเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยพัฒนาองค์กร เพื่อพัฒนาบริการ หรือผลิตภัณฑ์...จุดนี้หากเอสเอ็มอีขนาดเล็กอาจมีปัญหาในเรื่องเงินทุนจ้าง ภาครัฐก็ควรเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว ในการเข้ามามีบทบาท เข้ามาช่วยปรับปรุง ปัจจุบัน สถาบันการศึกษาหลายแห่งในประเทศ มีความเชี่ยวชาญด้านนี้และมีศักยภาพ ภาครัฐน่าจะดึงเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ เพียงแต่ที่ผ่านมายังขาดกลไกในการดึงสถาบันการศึกษาเหล่านี้เข้ามาช่วยเหลืออย่างเป็นกิจจะลักษณะ”

พัฒนาความสามารถแรงงานทดแทนต้นทุนที่เพิ่ม
ส่วนแรงงานที่มีอยู่แล้ว และจำเป็นต้องจ้างต่อเพื่อผลทางธุรกิจ ดีลอยท์ มองว่า เอสเอ็มอีควรที่จะหันมาใส่ใจและพัฒนาต่อบุคลากรของตน โดยการช่วยเพิ่มทักษะการทำงาน เช่นจากเดิมที่เคยผลิตได้วันละ 12 ชิ้น ควรพัฒนาเพิ่มทักษะการทำงานให้พนักงานเพิ่มขึ้น ก็ต้องเพิ่มเป็น 15 ชิ้น เพื่อชดเชยกับต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องสร้างจิตสำนักให้พนักงานเหล่านี้มีใจรักองค์กรด้วย โดยถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ

“เพราะเมื่อต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น วิธีแรกที่ผู้ประกอบการจะทำคือ การลดค่าใช้จ่ายในด้านอื่นๆ และทำให้คนงานใส่ใจต่องานและองค์กรมากขึ้น เพื่อร่วมมือพัฒนาองค์กรไปด้วยกัน เช่นถ้าบางอย่างประหยัดได้ก็ควรร่วมมือกันประหยัด ร่วมมือกัน ช่วยกันลดของเสียอันเป็นต้นทุนที่สูญเปล่า ถ้าพนักงานใส่ใจ และเข้าใจในจุดนี้ต้นทุนเหล่านี้ก็จะลดลงไปและช่วยชดเชยต้นทุนค่าแรงได้”

ปัญหาจาก 300 บาทจะเริ่มเห็นเมื่อใด
ทั้งนี้ มองว่าระยะเวลาเพียง 1 เดือนหลังจากภาครัฐประกาศใช้อัตราค่าจ้างแรงงานใหม่ 300 บาทต่อวันนี้ จะยังไม่สามารถวัดผลได้ทันทีทันใด โดยเชื่อว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก็เชื่อว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นมาให้เห็น เพราะเมื่อถึงเวลานั้น น่าจะมีบริษัทที่ไม่มีศักยภาพประสบปัญหา ไม่สามารถหารายได้ส่วนอื่นมาชดเชยค่าต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น และจะพากันปิดกิจการไปบ้าง หรือไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อลงทุนในเครื่องจักรได้

 เรตค่าจ้าง 300 บาท กับบริษัทขาดใหญ่
สำหรับบริษัทขนาดใหญ่เอง หรือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องยอมรับว่าการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างรายวัน ก็มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเช่นกันแต่ไม่มาก เพราะมีขนาดธุรกิจที่มีโอกาสต่อการลงทุนในอุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อที่จะขยายปริมาณงานได้มากกว่าธุรกิจเอสเอ็มอี และส่วนใหญ่ก็ต้องทำคล้ายกับเอสเอ็มอีเช่นกันคือ การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มผลผลิต และคุณภาพสินค้า และการิบริหารจัดการในเรื่องของเสียให้ลดลงอีก

“เรตค่าจ้าง 300 มีผลต่อบาง บจ.บ้าง เพราะบางบริษัทยังมีต้นทุนค้าจ้างแรงงาน ซึ่งแรงงานบางพวกยังมีอัตราค่าจ้างไม่ถึง 300 บาท ตรงนี้ก็ต้องเพิ่มขึ้นมา จึงถือเป็นต้นทุน แต่เชื่อว่าไม่มีผลกระทบอันเป็นนัยสำคัญต่อกำไรของบริษัทมากเท่าใด อีกทั้งตอนนี้เราจะเห็นว่าองค์กรหรือบริษัทขนาดใหญ่ ก็มีการบริหารจัดการและพัฒนาบุคลากรของตนเองมากขึ้น แต่ถ้าเป็นแรงงานฝีมือระดับสูงตรงนี้ก็มีการจ่ายค่าจ้างสูงกว่า 300 บาท/วันอยู่แล้ว แต่แรงงานระดับสูงที่มีอยู่โดยรวมยังถือเป็นส่วนน้อย อีกประการ ธุรกิจขนาดใหญ่มีโอกาสและช่องทางในการเข้าถึงแหล่งทุนได้มากกว่า และหลายธุรกิจยังมีความสามารถในการทำกำไรได้ในระดับสูง เช่นการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ก็เป็นแนวทางที่ช่วยผ่อนคลายในเรื่องนี้ ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายของเอสเอ็มอีมากกว่า”

การปรับลดพนักงาน...จากพิษ 300 บาท
มีการศึกษากันว่า วันนี้ธุรกิจในประเทศไทยมีการรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน 20-30%ของทั้งประเทศ ซึ่งวันนี้ที่มีการประกาศขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แต่แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ไม่ได้ถูกปรับขึ้นตามไปด้วย จึงมีผลกระทบไม่มาก แต่สิ่งที่น่าจับตาต่อจากนี้ คือการเปิดประเทศของหลายๆ ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า จุดนี้ก็อาจทำให้แรงงานพม่าบางส่วนย้ายกลับไปทำงานในประเทศของตน เรื่องนี้อาจมีผลต่อบริษัทไทยที่เน้นใช้แรงงงานต่างด้าวจำนวนมาก ก็จะมีความเสี่ยงไปด้วย เพราะเมื่อแรงงานต่างด้าวที่ค่าแรงน้อยกว่ามีน้อยลง บริษัทก็ต้องมองหาแรงงานไทย และต้องยอมรับกับต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

การปรับลดคน มองว่า บางกิจการอาจต้องหาทางเพิ่มประสิทธิภาพของคนเท่าที่มีอยู่และใช้แรงงานกับคนของตนเท่าที่มี แต่จะทำการวัดประสิทธิภาพของคนของตนเข้มข้นขึ้น จุดนี้จะส่งผลดีในระยะยาวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานในไทยให้เป็นที่ยอมรับ เป็นเรื่องดีในการบริหารจัดการธุรกิจ เพราะสุดท้าย เมื่อโลกการค้าไม่มีพรมแดนเกิดขึ้น หากธุรกิจยังไม้มีประสิทธิภาพจะไปแข่งขันกับใครก็เป็นเรื่องที่ยาก อย่างไรก็ตาม ต้องมีเวลาให้พัฒนาให้ปรับตัวมากกว่านี้

อัตราค่าจ้างทั่วไปโดยเฉลี่ยของไทยกับเพื่อนบ้าน
สิงคโปร์สูงกว่าไทยประมาณ 3 เท่า มาเลเซียยังใกล้เคียงไทย ส่วนอินโดนีเซีย เวียดนาม ต่ำกว่า แต่ทั้งสองประเทศมีการปรับอัตราเงินเดือนสูงต่อปีมากกว่าไทย เพราะทั้ง 2 ประเทศ ต้องการจะเร่งปรับขึ้นเพื่อดึงคนที่มีฝีมือเข้ามา ซึ่งก็ใกล้จะทันไทยแล้ว เพราะไทยปรับปีละประมาณ 6% แต่เวียดนาม-อินโดนีเซียปรับประมาณปีละ 10%

300 บาทกับบริษัทที่มาตั้งฐานผลิตในไทย
บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะไม่กังวลเรื่องนี้มากนัก แต่จะกังวลเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่า เพราะไทยเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย นโยบายมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยทำให้ปรับตัวไม่ทัน การประกาศค่าแรงเป็น 300 บาท/วัน บริษัทเหล่านี้ก็ใช้วิธีพัฒนาคุณภาพบุคลากร หรือหันไปใช้เครื่องจักรมากขึ้น

สรุป
ภาพรวมการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วันของภาครัฐ เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับเอสเอ็มอีไทย เพราะยังมีน้อยรายที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการลงทุนนำเครื่องจักรเพื่อนำเข้ามาขยายผลดำเนินงานและทดแทนอัตราค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และยังมีหลายธุรกิจแม้มีศักยภาพ แต่ด้วยขนาดธุรกิจที่เล็กการลงทุนด้านเครื่องจักรจึงกลายเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่า อีกทั้งการเข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นไปได้ยาก จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ไป

โดยวิธีแก้ไข นอกเหนือจากการลดค่าใช้จ่าย และต้นทุนต่างๆผู้ประกอบการ ยังต้องหาจุดเด่นของสินค้าหรือบริการของตนเอง และนำมาพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจ รวมถึงพัฒนาบุคลาการของบริษัทให้มีศักยภาพมากขึ้น เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในจำนวนที่มากขึ้นจากเดิม เพื่อทดแทนต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลในเรื่องนี้อาจต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถึงจะพอทราบว่ามีผลต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศมากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่นอน คือจะมีผลต่ออนาคตในการคัดเลือกบุคลากรที่จะเข้มข้นมากขึ้นของแต่ละบริษัท ทำให้ตำแหน่งงานที่ประกาศรับสมัครจะมีน้อยลง สวนทางกับปริมาณผู้สำเร็จการศึกษาที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งอาจมีผลต่อตัวเลขการว่างงานที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น