ASTVผู้จัดการรายวัน - สาลี่อุตสาหกรรม เชื่อปีนี้โตได้ไม่ต่ำกว่า 30% ตามเป้า เหตุอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าคอนซูเมอร์โปรดักต์เติบโต เตรียมงบลงทุนเพิ่มเครื่องจักรรองรับความต้องการลูกค้า เชื่อปีนี้รายได้งานสติกเกอร์ขยายตัวเป็น 55% เนื่องจากเศรษฐกิจจีน และอินเดียเติบโตมาก เผยอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนนอก รับเออีซี
นายสุพจน์ สุนทรินคะ ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท สาลี่อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ SALEE เปิดเผยว่า ปีนี้ภาพรวมของบริษัทยังดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง ทั้งชิ้นส่วนไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ อันจะทำให้รายได้เติบโตจากปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทถึงเป้าหมายปี 55 ว่าจะโตจากปีก่อน 30% หรือเติบโตเกือบ 1,000 ล้านบาท จากปี 54 ที่บริษัทมีรายได้ 750 ล้านบาท
“หลังจากปีที่แล้วเราใช้งบลงทุนไปกว่า 150 ล้านบาท เพื่อขยายเครื่องจักรรองรับออเดอร์ แม้ว่าปลายปีที่ผ่านมาเกิดภาวะน้ำท่วม และเราส่งสินค้าไม่ได้ ธุรกิจหยุดชะงัก ทำให้ผลงานงวดสิ้นปีกระทบและกำไรเราลดลงเกือบ 27 ล้านบาท แต่ปีนี้เราก็กลับมาเหมือนเดิมครับ และออเดอร์เพิ่มขึ้นด้วยเพราะอั้นมาจากช่วงน้ำท่วมครับ”
ปัจจุบัน SALEE มีสัดส่วนรายได้เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย กล่าวคือ รายได้จากงานพลาสติกลดลงมาเหลือ 45% ส่วนงานสติกเกอร์ขยับเป็น 55% เพราะระยะหลังงานสติกเกอร์ที่ใช้ในการติดชิ้นส่วนเครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่ใช้อิงกับ consumer product เติบโตมาก อันเป็นผลจากการขยายทางเศรษฐกิจของจีน และอินเดีย ดังนั้น ความต้องการจึงเพิ่มขึ้น
นายสุพจน์กล่าวถึงแผนการลงทุนเพิ่มว่า ปีนี้ยังไม่มีการลงทุนใหญ่ๆ แต่บริษัทยังตั้งงบลงทุนไว้ปีละ 150 ล้านบาท และคาดว่าไตรมาส 2 ปีนี้ จะเพิ่มเครื่องจักรเพิ่ม หลังจากปีที่แล้วลงเครื่องจักรใหม่แล้ว ทำให้การผลิตชิ้นส่วนพลาสติกเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20-30% และขณะนี้อยู่บริษัทระหว่างศึกษาการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขยายกำลังการผลิต รองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 58 ด้วย
“เป็นเรื่องของอนาคตที่เราก็มองไว้หลายทาง เพราะการทำธุรกิจต้องทำได้หลายอย่าง แต่ก็ต้องเลือกที่เหมาะสมที่สุด และเมื่อถึงเวลาเราก็จะเลือกทางที่ดีที่สุดครับ เราไม่เลือกประเทศที่จะลงทุน เพราะบริษัทแม่เราก็มีเครือข่ายในประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว และเราอยู่ในช่วงของการเริ่มศึกษา คาดได้ข้อสรุปภายใน 1-2 ปีนี้”
สำหรับเงินทุนในการใช้ขยายงานนั้นไม่เป็นปัญหา เพราะบริษัทมีเงินทุนเพียงพอต่อ ซึ่งตอนนี้มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือดีอี ที่ 0.6-0.7 เท่า ลดลงจากก่อนหน้าที่ยังไม่ขาย บริษัท เอสซี วาโด จำกัด ที่สูงถึง 1.4-1.5 เท่า แต่เมื่อขายหุ้นบริษัทดังกล่าวไปทั้งหมด สัดส่วนหนี้สินต่อทุนลดลง รวมทั้งรายได้ก็สูญไปปีละกว่า 100 ล้านบาทด้วย
นายสุพจน์กล่าวถึงอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มมาที่ 300 บาทต่อวันว่า กระทบกับต้นทุนการดำเนินงานประมาณ 3% และถือว่าอยู่ในภาวะที่รับได้ เพราะธุรกิจที่ดำเนินการอยู่เป็นกึ่งเครื่องจักรกึ่งแรงงาน จึงกระทบไม่มากเหมือนพวกอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก แม้ว่าช่วงปีที่ผ่านมาที่เกิดภาวะน้ำท่วม และเหตุภัยพิบัติใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่น อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เกิดปัญหาขาดแคลนอุปทาน แต่ในส่วนของ SALEE ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะรายรับของบริษัทที่มาจากอุตสาหกรรมยานยนต์คิดเป็น 5-10% ของรายรับรวม โดยลูกค้าหลักๆ ของบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมจักรยานยนต์ ขณะที่รายรับจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คิดเป็น 15-20% ของรายรับรวม
“ตอนนี้คำสั่งซื้อจากบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังทรงตัว และจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ขยายตัวตาม ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อ SALEE เพราะความต้องการสินค้าสูงขึ้น เราก็ขายของได้มากขึ้น”