xs
xsm
sm
md
lg

“ทีดีอาร์ไอ” เตือนผลกระทบค่าจ้างขั้นต่ำ 300 ปรับแบบฉับพลัน ไร้มาตรการรองรับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีดีอาร์ไอ เผยผลศึกษาผลกระทบค่าจ้าง 300 บาท ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้จริง แต่ส่งผลต่อแรงงานภาคการผลิตในระบบมากกว่า เป็นการปรับขึ้นอย่างฉับพลัน หวั่นกลายเป็นการซ้ำเติม ขณะที่แรงงานไร้ทักษะเสี่ยงตกงานสูง แรงงานระดับล่างอายุน้อยทักษะต่ำ อาจต้องกลับไปอยู่นอกระบบเพิ่มขึ้น หากไม่เตรียมพร้อมรองรับ

นายดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ได้ศึกษาผลกระทบของการดำเนินนโยบายรายได้ค่าแรงไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวัน พบว่า การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำยังจำเป็นต้องมีในบริบทของประเทศไทย และควรทำเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างระดับล่างที่มีอำนาจต่อรองน้อย ให้มีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากข้อมูลอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยเฉลี่ยทั่วประเทศในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2529 ถึง 2553 จะเห็นได้ว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริง ปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 โดยปกติ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยนั้นจะกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างภายใต้ระบบไตรภาคี ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายนายจ้าง และตัวแทนจากภาครัฐ ดังนั้น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจึงสะท้อนถึงความไม่มีอำนาจในการต่อรองของฝ่ายลูกจ้าง

จากการศึกษาด้วยแบบจำลองทางเศรษฐมิติโดยใช้ข้อมูลค่าจ้างในอดีต พบว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้แรงงานได้มากพอสมควร วิเคราะห์ได้ว่าการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นประโยชน์ต่อแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ และมีอำนาจต่อรองน้อย อย่างไรก็ตาม ผลดีนี้ส่วนมากจะตกอยู่กับแรงงานที่ยังมีงานทำในภาคการผลิตที่เป็นทางการ ดังนั้น การวิเคราะห์ผลดีผลเสียของนโยบายจึงจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการจ้างงาน และการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคการผลิตในระบบที่เป็นทางการ และนอกระบบที่ไม่เป็นทางการด้วย

นายดิลกะ กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้แม้เป็นไปภายใต้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลตามที่หาเสียงไว้ และก็ดูเป็นธรรมกับลูกจ้างระดับหนึ่ง แต่การขึ้นค่าจ้างมากๆ แบบฉับพลัน มีโอกาสเกิดผลเสีย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ หรือภาคธุรกิจที่ไม่แข็งแรงพอซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเอสเอ็มอี จึงควรมีมาตรการรองรับเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัว เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสามารถเป็นแหล่งรองรับแรงงานในกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบไม่ต้องถูกเลิกจ้าง หรือถูกผลักไปสู่สภาพการทำงานที่แย่ลง สวนทางกับความพยายามในอดีตซึ่งสามารถทำให้แรงงานเข้ามาทำงานในระบบได้รับการคุ้มครองดูแลตามกฎหมายมากขึ้น แต่ตอนนี้ หากไม่เตรียมการรองรับที่ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้แรงงานระดับล่าง อายุน้อย ทักษะต่ำกลับไปอยู่นอกระบบเป็นจำนวนมาก เพิ่มสัดส่วนแรงงานที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าขั้นต่ำ และกฎหมายคุ้มครองไปไม่ถึง
กำลังโหลดความคิดเห็น