xs
xsm
sm
md
lg

"คลัง" โต้ใช้ผลตอบแทน 9% ล่อใจ ขรก. เข้า กบข. คาดได้ข้อสรุปสูตรคำนวณ 30 มี.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"บัญชีกลาง" ยันไม่นิ่งนอนใจ เร่งหาข้อสรุปปรับสูตรคำนวณเงินบำนาญแก่สมาชิก กบข. หลังมีการชุมนุมประท้วง คาดนัดสรุปได้ 30 มี.ค.นี้ พร้อมโต้ข้อกล่าวหา "คลัง" ชักจูงให้เข้าระบบโดยใช้ผลตอบแทนเกิน 9% ล่อใจสมาชิก ยันเป็นการเช้าใจผิด เพราะทาง กบข. ไม่ได้มีการการันตีผลตอบแทนที่ 9% เพียงแต่ในช่วงการจัดตั้ง กบข.นั้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในวันนั้นอยู่ที่ 14% จึงมีการคำนวณผลตอบแทนในช่วงนั้นว่า น่าจะอยู่ที่ 9%

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการชุมนุมประท้วงการใช้สูตรคำนวณอัตราเงินผลตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม โดยยืนยันว่า กรมบัญชีกลางไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบและหน่วยงานเกี่ยวข้องกำลังเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่งในวันที่ 30 มีนาคม 2555 นี้ กรมบัญชีกลางจะร่วมหารือกับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว

"กรณีข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข.เรียกร้องให้มีการปรับสูตรการคำนวณผลตอบแทนเงินบำนาญที่สมาชิกจะได้รับหลังจากเกษียณอายุ กรมบัญชีกลางจะร่วมหารือกับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 30 มีนาคม 2555 นี้"

สำหรับสูตรในการคำนวณเงินบำนาญนั้น นายรังสรรค์ ยืนยันว่า ขณะนี้หน่วยงานได้พิจารณาในหลายแนวทาง แต่ละแนวทางจะต้องพิจารณาถึงงบประมาณที่จะต้องใช้ประกอบด้วย ขณะเดียวกัน ในบางแนวทางจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เช่น การจำกัดเงินบำนาญไว้ไม่เกิน 70% ของเงินเดือนสุดท้าย เป็นต้น ซึ่งกรณีดังกล่าว กำลังพิจารณาว่า จะปรับเพิ่มเป็นจำนวนเท่าใดระหว่าง 75% หรือ 80% ของเงินเดือนสุดท้าย

"ตอนนี้ เรามีหลายแนวทางที่กำลังดูอยู่ เช่น ปรับสูตรการจำกัดเงินบำนาญให้สูงกว่า 70% แต่เราจะพิจารณาให้เฉพาะสมาชิกที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก กบข.ในปีแรก คือ ปี 2540 เท่านั้น และต้องพิจารณาเรื่องงบประมาณที่จะต้องใส่เพิ่มไว้ด้วย อย่างไรก็ดี สำหรับข้าราชการบำนาญที่เกษียณอายุไปแล้ว ก็จะพิจารณาเงินบำนาญให้ตามความเหมาะสมด้วย"

ทั้งนี้ สำหรับสูตรการคำนวณผลตอบแทนเงินบำนาญหลังเกษียณแก่สมาชิก กบข. ในปัจจุบัน คือ เงินเดือนเฉลี่ยของสมาชิกในช่วง 60 เดือนสุดท้ายของการรับราชการคูณด้วย อายุงาน แล้วหารด้วย 50 โดยตัวเลขที่ได้ออกมานั้น จะต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย ประเด็นก็คือ การจำกัดไว้ที่ไม่เกิน 70% ต่ำไปหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีการแก้ไขสูตรในการคำนวณผลตอบแทนหรือไม่ กระทรวงการคลัง จะไม่ถอยหลัง กลับไปสู่ระบบเดิม คือ ระบบที่รัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินบำนาญให้กับข้าราชการเกษียณตลอดชีวิต ซึ่งเป็นภาระต่อรัฐบาลทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เคยคำนวณว่าหาก ต้องกลับไปสู่ระบบเดิม รัฐจะต้องเตรียมงบประมาณไว้ ประมาณ 5 แสนล้านบาทในการจ่ายเงินบำนาญให้กับข้าราชการ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องที่ข้าราชการร้องเรียนว่า ในช่วงก่อตั้ง กบข.นั้น คลังได้ชักชวนให้ข้าราชการ เข้ามาเป็นสมาชิก โดยระบุว่า ผลตอบแทนเฉลี่ยของเงินสะสมใน กบข.จะอยู่ที่ 9% แต่ในช่วงที่ผ่านมา ผลตอบแทนของ กบข.ไม่เคยถึง 9% เลย โดยเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง อยู่ที่ 4.85% ทำให้เกิดข้อร้องเรียนจากสมาชิก กบข. แต่ในความจริงแล้ว กบข.ไม่ได้มีการการันตีผลตอบแทนที่ 9% เพียงแต่ว่า ในช่วงการจัดตั้ง กบข.นั้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในวันนั้นอยู่ที่ 14% จึงมีการคำนวณผลตอบแทนในช่วงนั้นว่า น่าจะอยู่ที่ 9%

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่า จะชดเชยอย่างไร สำหรับข้าราชการที่สมัครเป็นสมาชิก กบข.ในปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบบำนาญเดิมไปสู่ระบบ กบข. โดยอาจผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำอีก 1-2%

ทั้งนี้ รัฐได้ปรับระบบการจ่ายเงินบำนาญจากรัฐจ่ายฝ่ายเดียวมาเป็นระบบร่วมสะสมเงินในอัตรา 5% ของเงินเดือน โดยจัดตั้งกองทุน กบข.ขึ้นมาบริหารเงินก้อนนี้และให้ข้าราชการเลือกว่าจะใช้ระบบใดในปี 2540 อย่างไรก็ตาม ข้าราชการที่สมัครและไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกกบข.ยังคงมีสิทธิ์เลือกรับเงินบำนาญรายเดือนหรือเงินบำเหน็จหลังเกษียณ

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ปัจจุบันมีข้าราชการบำนาญในระบบประมาณ 4 แสนคน รัฐบาลต้องมีภาระงบประมาณรายจ่ายในส่วนนี้ประมาณ 8 พันล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น