xs
xsm
sm
md
lg

ผลตอบแทน 9% ความคาดหวังที่ต้องเปลี่ยนไป (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โสภาวดี เลิศมนัสชัย


แม้จะไม่มีข่าวการขาดทุนจากการลงทุนของ กบข.หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เมื่อก่อนหน้านี้ แต่ก็มีเหตุการณ์ประท้วงเกิดขึ้นจากสมาชิกที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.กบข. 2539 มาตรา 63 การคิดคำนวณบำเหน็จบำนาญข้าราชการและแก้ไขเงินสมทบที่รัฐบาลประกาศนำไปบริหารจัดการเพื่อช่วยให้สมาชิกได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

ซึ่งสูตรการคำนวณที่ว่านั้น คือสูตรการคำนวณผลตอบแทนเงินบำนาญหลังเกษียณแก่สมาชิก กบข. โดยในปัจจุบันกำหนดไว้ว่า เงินเดือนเฉลี่ยของสมาชิกในช่วง 60 เดือนสุดท้ายของการรับราชการคูณด้วยอายุงาน แล้วหารด้วย 50 โดยตัวเลขที่ได้ออกมานั้นจะต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย ซึ่งต่างจากสูตรเก่าที่คำนวนจากอัตราเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยอายุราชการแล้วหารด้วย 50 ...โดยสูตรเก่าสูตรใหม่ถือว่าต่างกันมาก ที่สำคัญสูตรเก่าจะใช้เงินเดือนเดือนสุดท้ายยืนพื้นโดยไม่มีการเฉลี่ย ดังนั้น จึงอาจจะเป็นการเสียโอกาสที่จะได้รับเงินบำนาญที่สูงกว่า หากต้องไปเฉลี่ยกับเงินเดือนเฉลี่ยในช่วง 60 เดือนสุดท้าย

นอกจากนี้ ข้าราชการยังร้องเรียนว่า ในช่วงก่อตั้ง กบข.นั้นคลังได้ชักชวนให้ข้าราชการเข้ามาเป็นสมาชิก โดยระบุว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของเงินสะสมใน กบข.จะอยู่ที่ 9% แต่ในช่วงที่ผ่านมาผลตอบแทนของ กบข.ไม่เคยถึง 9% เลย

และนี่เองคือที่มาของข้อเรียกร้องที่จะให้ปรับการคำนวณสูตรผลตอบแทนเงินบำนาญใหม่ รวมถึงเปลี่ยนจากปัจจุบันกลับไปสู่ระบบเดิม คือ ระบบที่รัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินบำนาญแก่ข้าราชการเกษียณตลอดชีวิต

ซึ่งก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เคยคำนวณว่า หากต้องกลับไปสู่ระบบเดิม รัฐจะต้องเตรียมงบประมาณไว้ประมาณ 5 แสนล้านบาทในการจ่ายเงินบำนาญแก่ข้าราชการ

โสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการ กบข.คนปัจจุบัน เปิดเผยต่อ “ASTVผู้จัดการรายวัน” ว่า เงินที่สมาชิก กบข.จะได้รับหลังจากเกษียณแล้วจะมาจาก 4 ส่วนด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย

- เงินสะสม 3% ของเงินเดือน...จากสมาชิก

- เงินสะสม 3% ของเงินเดือน...จากรัฐบาล

- เงินชดเชย 2% ของเงินเดือน...จากรัฐบาล (ชดเชยสูตรบำนาญที่เปลี่ยนไป)

- ผลประโยชน์จากเงินทุกก้อนที่ กบข.นำไปลงทุน

นอกจากนี้ ข้าราชการที่บรรจุก่อนปี 2540 และสมัครใจเป็นสมาชิก กบข. นอกจากจะได้รับเงินทั้ง 4 ก้อนแล้ว รัฐบาลยังมอบเงินประเดิมอีก 1 ก้อน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เข้าเป็นสมาชิก กบข.ด้วย

เรื่องนี้ ...เลขาธิการ กบข. กล่าวว่า หากจะกลับไปคำนวณเงินบำนาญตามสูตรผลตอบแทนเดิม แน่นอนว่าเป็นภาระเงินมหาศาลของรัฐบาลที่ต้องแบกรับ แต่คนที่อยู่ในระบบบำนาญแบบใหม่ก็มีความรู้สึกว่าเสียเปรียบ เพราะสูตรเดิมจะได้เงินบำนาญในอัตราที่ใกล้เคียงเงินเดือนสุดท้ายมากกว่า

ประเด็นนี้ สุดท้ายแล้วคงเป็นหน้าที่ของกรมบัญชีกลางที่จะต้องหาแนวทางชดเชยสมาชิกเพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกัน ส่วนประเด็นที่สมาชิกต้องการให้แก้ไขมาตรา 59 ในการจ่ายเงินให้ทายาทกรณีสมาชิกเสียชีวิตก่อนเกษียณ โดยเพิ่มเงินชดเชยและเงินประเดิมด้วยนั้น เรื่องนี้ทางกรมบัญชีกลางซึ่งดูแลอยู่ได้ชี้แจงไปแล้วว่าไม่สามารถทำได้

“สำหรับ กบข.เราไม่ได้นิ่งนอนใจในส่วนที่แก้ไขกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องของกรมบัญชีกลาง เราเข้าใจดีว่าเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะว่าต้องใช้ภาระงบประมาณอีกเยอะ และจะต้องใช้เวลายาวนานในการที่จะให้ผ่านกระบวนการของการแก้ไขกฎหมาย ในฐานะ กบข.เอง เราก็ดูว่ามีเรื่้องอะไรบ้างที่เราสามารถทำได้เองบ้าง และมีสิทธิประโยชน์ให้สมาชิกได้บริหารจัดการเองได้บ้าง” เลขาธิการ กบข.กล่าว

ส่วนประเด็นเรื่องผลตอบแทน 9% นั้น ...เลขาธิการ กบข.บอกว่า สาเหตุสำคัญของเรื่องนี้น่าจะมาจากความคาดหวังหลังจากที่จัดตั้งกองทุน กบข. มา ซึ่งในตอนที่เขาได้รับการชักชวน มีการตั้งสมมติฐานถึงตัวเลขผลตอบแทนที่สมาชิกจะได้รับหลังจากเกษียณ เช่นผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้ 9% หรืออัตราเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น 8% แต่หลังจากเข้ามาเป็นสมาชิก กบข. ตัวเลขต่างๆ ก็มีการเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมหลายๆ อย่างที่เปลี่ยนไป ในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุนก็เปลี่ยนแปลงไป

“ถ้าเราจำได้ดี ช่วงปี 2539 หรือปี 2540 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงถึง 14-15% แต่ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยลดลง 2-3% ภาวะเงินเฟ้อก็สูงขึ้น การที่จะลงทุนแล้วหาผลประโยชน์ตอบแทนเลข 2 หลัก จึงไม่ใช่เรื่องง่าย”

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นทางเลือกให้สมาชิก กบข. จึงได้ศึกษาแผนที่จะเพิ่มทางเลือกการลงทุนใหม่ให้แก่สมาชิก จากเดิมที่สามารถเลือกรูปแบบการลงทุนได้ 4 แบบตามความเสี่ยงของสมาชิก ซึ่งประกอบด้วย แผนหลัก แผนผสมหุ้นทวี แผนตราสารหนี้ และแผนตลาดเงิน
โดยแผนที่ กบข.ศึกษาอยู่นั้น คือ แผนทางเลือกการลงทุนที่ปรับลดความเสี่ยงตามอายุสมาชิกโดยอัตโนมัติ (Life Path Choice) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสมาชิก กบข.ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการเลือกแผนการลงทุน และมีระยะเวลาออมเงินกับ กบข.นาน โดยแผนการลงทุน Life Path Choice เป็นที่นิยมในกองทุนบำนาญทั่วโลก

หลักการของแผนดังกล่าว คือ ปรับลดความเสี่ยงตามอายุสมาชิกที่เพิ่มขึ้น โดยมีวิธีการบริหารจัดการหลากหลายแนวคิด กองทุนบำนาญบางแห่งใช้แนวคิดค่อยๆ ปรับลดความเสี่ยงในการลงทุนแต่ละสินทรัพย์ทีละน้อย (Smooth gliding) บางกองทุนเน้นลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงมากตลอดระยะเวลาการออมของสมาชิก แต่ปรับลดความเสี่ยงจากการลงทุนทั้งหมดเมื่อสมาชิกเหลืออายุการออม 1-2 ปีก่อนเกษียณ

และบางกองทุนเปิดโอกาสให้สมาชิกที่เกษียณอายุและยังฝากเงินออมให้กองทุนบริหารต่อสามารถลงทุนในหุ้นได้ไม่ต่ำกว่า 20% เพื่อหาผลตอบแทนต่อเนื่อง โดยพลังดอกเบี้ยทบต้นจะช่วยทวีคูณผลตอบแทนจากเงินออมที่มีมาก

“เหตุที่วิธีการปรับลดความเสี่ยงของกองทุนมีลักษณะต่างกัน เพราะความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของสมาชิกกองทุนแตกต่างกันนั่นเอง ซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและมีความสำคัญต่อการพัฒนาแผนการลงทุนใหม่อย่างมาก กบข.จึงจำเป็นต้องศึกษาวิธีการและข้อมูลต่างๆ ให้รอบคอบและรอบด้าน ก่อนจะเสนอแผน Life Path Choice ให้สมาชิกเลือก คาดว่าจะใช้ได้ในปีหน้า"

ศาลฯ ยกฟ้องคดี กบข.ขาดทุนปี 51 แล้ว 430คดี

โสภาวดี กล่าวว่า ในช่วงปี 2552-2553 กบข.ถูกสมาชิกฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง อันเนื่องจากผลประกอบการของ กบข.ขาดทุนในปี 2551 รวมทั้งสิ้น 633 คดี ปัจจุบันศาลปกครองได้มีคำสั่งยกฟ้องและจำหน่ายคดีของสมาชิกรวม 430 คดี เนื่องจากศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่า การลงทุนของ กบข.เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และการคำนวณผลประโยชน์จากหน่วยลงทุนของสมาชิกที่เกษียณอายุราชการในปี 2551 เป็นการตีมูลค่าตามราคาตลาด (Mark to Market) ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการ กบข. โดยคาดว่าภายในปีนี้ศาลปกครองน่าจะมีคำพิพากษาคดีที่สมาชิกฟ้องร้อง กบข.ครบทุกคดี

เลขาธิการ กบข.ชี้แจงเพิ่มเติมว่า วิกฤตการเงินของสหรัฐฯ ในปี 2551 ส่งผลให้การลงทุนในตราสารทุนทั่วโลกตกอยู่ในสภาวะตกต่ำอย่างต่อเนื่อง และทำให้ผลการดำเนินงานของ กบข. ติดลบอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นในปี 2552 และปี 2553 ผลการดำเนินงานของ กบข.ก็ดีขึ้น โดยผลตอบแทนการลงทุนของ กบข.เฉลี่ยนับตั้งแต่ตั้งกองทุน (ปี 2540-2554) อยู่ที่ 6.97%
กำลังโหลดความคิดเห็น