ศาลปกครองกลาง ยกฟ้องคดี ธปท.ถูกร้องกำหนดเกณฑ์ เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตร้อยละ 20 ถือว่าชอบด้วย กม. ชี้ใกล้เคียงมาตรฐานสากล เพื่อชดเชยความเสี่ยงของหนี้บัตรเครดิตซึ่งเป็นสินเชื่อ ที่ไม่มีหลักประกันการชำระหนี้
วันนี้ (29 ก.พ.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่นายสุรชัย ฝั้นแก้ว ฟ้องผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ขอให้เพิกถอนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องหลักเกณฑ์การปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ค่าบริการต่างๆ และเบี้ยปรับที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้ในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ฉบับลงวันที่ 9 ก.ค.52 เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ เหตุแห่งการยกคำฟ้องระบุว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับดอกเบี้ย ค่าบริการต่างๆ และเบี้ยปรับที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้จากการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต โดยกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกเก็บได้เมื่อคำนวณรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี เนื่องมาจากก่อนปี พ.ศ. 2545 ธนาคารพาณิชย์ได้มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสินเชื่อบัตรเครดิตในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 28 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเกินควร และก่อให้เกิดภาระแก่ประชาชนผู้ใช้บัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ อันนำมาซึ่งการร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ค่าบริการต่างๆ และเบี้ยปรับที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้ในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตตามประกาศฉบับพิพาทในคดีนี้ ซึ่งพิเคราะห์จากปัจจัยต่างๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำมาใช้กำหนดหลักเกณฑ์ กล่าวคือ การเทียบเคียงกับอัตราดอกเบี้ยของเงินประเภทต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ อันได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ โดยเฉพาะเพดานสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกเก็บได้ในเชิงเปรียบเทียบ
ซึ่งประเทศไทยมีอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี ประเทศมาเลเซียมีอัตราไม่เกินร้อยละ 18 ต่อปี ประเทศสิงคโปร์มีอัตราไม่เกินร้อยละ 24 ต่อปี เขตปกครองพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนมีอัตราไม่เกินร้อยละ 24 ต่อปี สหรัฐอเมริกามีอัตราไม่เกินร้อยละ 24.5 ต่อปี และประเทศไต้หวันมีอัตราไม่เกินร้อยละ 19.7 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกันกับอัตราของประเทศไทย อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยยังกำหนดโดยพิจารณาจากค่าใช้จ่ายในการประกอบการของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อนอกระบบในอัตราร้อยละ 24 ถึง ร้อยละ 60 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยของโรงรับจำนำที่กฎหมายกำหนดให้คิดได้ในอัตราร้อยละ 24 ต่อปี โดยกรณีของโรงรับจำนำผู้กู้ต้องนำสังหาริมทรัพย์มาจำนำไว้เป็นประกันทรัพย์สินด้วย
ขณะที่ผู้ใช้บัตรเครดิตซึ่งขอใช้เงินของธนาคารพาณิชย์ชำระราคาสินค้าให้ไปก่อน เป็นการล่วงหน้าเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บัตรเครดิตแทนที่จะใช้เงินสด ซึ่งเท่ากับ เป็นการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ในลักษณะหนึ่งเช่นกัน กลับมิต้องนำบุคคลหรือทรัพย์สินใดๆ มาวางเป็นประกันการขอใช้เงินกู้ดังกล่าวของธนาคารพาณิชย์ อันเป็นที่เห็นได้ว่า การที่ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจให้ผู้ใช้บัตรเครดิตนำเงินของธนาคารพาณิชย์ไปใช้ในกรณีบัตรเครดิตเช่นนี้ ย่อมมีความเสี่ยงที่ต้องแบกรับภาระหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มากกว่าการให้กู้เงินในกรณีที่ผู้กู้มีบุคคลหรือทรัพย์สินมาเป็นประกันการชำระหนี้
การกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของบัตรเครดิตที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกเก็บได้ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี จึงเป็นไปเพื่อชดเชยความเสี่ยงของหนี้บัตรเครดิตซึ่งเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันการชำระหนี้ จึงเป็นกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้นำปัจจัยและผลกระทบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์มากำหนดหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฯ ลงวันที่ 9 ก.ค.52 ที่ชอบด้วยเหตุผล และธนาคารพาณิชย์ก็มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าบริการต่างๆ และเบี้ยปรับในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตภายในกำหนดเพดานอัตราดังกล่าวได้โดยชอบ จึงเห็นว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส.17/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์การปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ค่าบริการต่างๆ และเบี้ยปรับที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้ในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ลงวันที่ 9 ก.ค.52 ข้อ 5.2.1 และข้อ 5.2.2 ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง