xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ ชี้ เออีซี เนื้อหอม-ได้รับความสนใจของทั่วโลก คาดมีโอกาสเติบโตสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการ ชี้ เออีซี เนื้อหอม-ได้รับความสนใจของทั่วโลก คาดมีโอกาสเติบโตสูง ห่วงปัญหาความมั่นคง เพราะอาจถูกใช้เป็นแหล่งประลองกำลังภายในของชาติมหาอำนาจ หวั่นไทยถูกบีบให้เลือกข้าง "จีน-สหรัฐฯ" ผ่านสงครามเย็นยุคใหม่

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ พีไอเอ็ม (PIM) กล่าวว่า ในการเสวนาเศรษฐศาสตร์การเมืองครั้งที่ 3 ประจำปี 2554 ในหัวข้อ “ประเทศไทยเอา (ไม่) อยู่ใน AEC?” จัดโดยชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมืองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ขั้นตอนการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ของอาเซียน ขณะนี้เปรียบได้กับการเกิดขึ้นของสหภาพยุโรป (อียู) ที่รวมตัวกันเป็นตลาดเดียว แต่ไม่ใช่เป็นการรวมตัวในลักษณะ EURO ZONE ที่มีการใช้เงินตราสกุลเดียวโดยที่ไม่มีอังกฤษร่วมอยู่ด้วย และขณะนี้ EURO ZONE กำลังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของเออีซี มีขนาดเพียงร้อยละ 10 ของอียู เท่านั้น สำหรับการเกิดตลาดเดียวของเออีซี มุ่งใน 5 ประเด็นคือ เสรีการนำเข้าส่งออก การลงทุนระหว่างกันเสรีภาคบริการ 12 ภาค ส่วนเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี และเคลื่อนย้ายบุคลากรที่มีฝีมือใน 8 สาขา เริ่มแรกเกิดจากเป้าหมายด้านความมั่นคง แต่มีเส้นทางร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนเมื่อมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในปี 1992

หลังจากสิ้นสุดยุคสงครามเย็น เวียดนามจึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน และมีนโยบายเปิดประเทศมากขึ้น จากนั้นมีพม่าและลาวเข้ามาตามด้วยกัมพูชา ซึ่งประเทศเข้าร่วมอาเซียนใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นเออีซี ปี 2558 อาเซียนมีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) เพียง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นับว่ามีขนาดจีดีพีที่เล็กมากหากเทียบเศรษฐกิจโลก แต่กลับได้รับความสนใจมาก แม้อาเซียนที่กำลังมุ่งสู่เออีซีมีขนาดเศรษฐกิจที่เล็กก็จริงแต่เข้าข่ายจิ๋วแต่แจ๋วได้ เพราะมีประชากรร้อยละ 9 ของโลก โดยพื้นที่ที่น่าสนใจคือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เนื่องจากประเทศเหล่านี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก

ขณะที่เงินล้นโลกและไหลมาแสวงหาโอกาสในประเทศเอเชียและมากในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่เศรษฐกิจเริ่มเปิดมากขึ้น ดังนั้น การเกิดขึ้นของเออีซี จึงได้รับความสนใจจากโอกาสที่ยังสามารถเติบโตได้อีกมากจะเห็นได้จากขนาดจีดีพี ประเทศกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม โดยเวียดนามมีขนาดจีดีพี เพียง 1 ใน 3 ของไทย พม่า จีดีพีเล็กกว่าไทย 11 เท่าตัว แต่เป็นประเทศที่มีพื้นที่ประเทศใหญ่อันดับ 2 ในกลุ่มอาเซียน

ส่วนกัมพูชามีขนาดจีดีพีเพียง 1 ใน 33 ของประเทศไทย ลาวมีขนาดจีดีพีเล็กกว่าไทย 60 เท่าเท่านั้น และทั้งหมดของสมาชิกอาเซียนใหม่เหล่านี้มีขนาดจีดีพีบวกกันแล้วมีขนาดไม่ถึงครึ่งจีดีพีของไทย จึงไม่น่าแปลกใจที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก จากโอกาสที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เออีซี 10 ประเทศมีปัญหาความแตกต่างกันมากแม้ในกลุ่ม 6 ประเทศสมาชิกหลักมีระดับการพัฒนาประเทศที่แตกต่างกัน โดยที่ 2 ประเทศยังคงมีรายได้ปานกลางระดับต่ำ คือ พิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ซึ่งประชาชนมีรายได้ 1,002 ถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่ประเทศไทยมีรายได้สูงกว่าที่ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่มาเลเซียมีรายได้สูงสุดในอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์

นอกจากนี้ อาเซียนยังมีความแตกต่างกันทางสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย ทำให้ความร่วมมือระหว่างกันมีปัญหา ดังนั้น จึงมีโจทย์ว่าอาเซียนจะสร้างเอกภาพในความหลากหลายโดยสำนึกในความเป็นอาเซียนได้อย่างไร และอาเซียนยังมีแนวโน้มจะกลับมามีปัญหาความมั่นคงเกิดขึ้น จากการที่สหรัฐและจีนจะใช้อาเซียนเป็นสนามในการต่อสู่ในลักษณะซอฟพาวเวอร์ ซึ่งการต่อสู้จะอยู่ในระดับที่สูงมากเป็นไปได้อาเซียนจะย้อนสู่สงครามเย็นเหมือนกับในช่วง 45 ปีที่ผ่านมาอีกครั้ง ไทยจึงกลายเป็นสนามประลองยุทธมหาอำนาจและกลายเป็นสนามประลองช้าง

นายเทียนชัย วงษ์ชัยสุวรรณ นักวิชาการ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกขาลงเสริมด้วยภัยธรรมชาติและวิกฤตน้ำมันอาจเป็นครั้งสำคัญที่มหาอำนาจ 2 ฝ่าย คือ จีนและสหรัฐ ต้องเผชิญหน้าทำสงครามช่วงชิงอำนาจเหนือระบบโลกที่เล็กลง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มนุษยชาติต้องเผชิญ ทั้งนี้ สหรัฐสนใจประเทศไทย ดังนั้น ประเทศไทยอาจถูกลากสู่ภาวะสงครามอีกครั้ง

นายสุรพงษ์ ชัยนาม นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นยุคของซอฟพาวเวอร์ หรือการขอความยินยอม หรือการขอความสมัครใจ โดยประเทศนั้นๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศมหาอำนาจ แต่เป็นการดำเนินการที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ทำให้ประเทศอื่นเป็นมิตรกับตน เช่น สหรัฐจะพิจารณาว่าประเทศนั้นให้ความร่วมมือกับสหรัฐมากน้อยเพียงใดแล้วจึงพิจารณาให้สิ่งตอบแทน ขณะนี้สิ่งที่กำลังถูกจับตาอย่างมากคือ เรื่องของชาตินิยม

สำหรับการก้าวสู่การรวมตัวเป็นเออีซี ที่กำลังมีความคืบหน้าและเกิดขึ้นปี 2558 เชื่อว่าใน 3 เสาหลักคือด้านเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และสังคมวัฒนธรรม เชื่อว่าด้านเศรษฐกิจ จะมีโอกาสคืบหน้ามากกว่าอีก 2 ด้าน เพราะอีก 2 ด้านยังคงมีอุปสรรคอย่างมากที่อาเซียนจะมีนโยบายหลักร่วมกันได้ในประเด็นสำคัญๆ การจะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์กรความสัมพันธ์ส่วนภูมิภาคที่การเมืองการปกครองเข้ากันได้อย่างสภาพยุโรป ความต่างจะเห็นได้จากในแต่ละปีประเทศสมาชิกอาเซียนมีการประชุมคณะกรรมาธิการอาเซียนอย่างน้อย 700 ครั้งต่อปี และมีความตกลงไปแล้ว 134 ความตกลงที่ให้สัตยาบันไปแล้ว แต่มีการดำเนินการจริงเพียงร้อยละ 65 เท่านั้น และขณะนี้อาเซียนไม่ทำตามกฎ เช่น มีการแทรกแซงเรื่องของประเทศสมาชิก

ดังนั้น 55 มาตรากฎบัตรอาเซียนที่ไม่มีกฎบังคับให้สมาชิกต้องปฏิบัติตามอีกทั้งไม่มีบทลงโทษประเทศสมาชิกเลย จะกลายเป็นสิ่งที่เป็นปัญหามากในอนาคตข้างหน้า อนาคตของอาเซียนจะมีได้ ระบอบการเมืองการปกครองต้องใกล้เคียงกันไม่ใช่อย่างที่แตกต่างกันอย่างมากในขณะนี้ด้านประชาสังคมต้องมีความเข้มแข็งที่มากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น