ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเศรษฐกิจไทยปี 55 จะเติบโตได้ 3.5-4.8% โดยฟื้นตัว โดยปรับขึ้นลักษณะระมัดระวังในลักษณะตัว V เพราะการกลับเข้าสู่ภาวะปกติของภาคการผลิต ยังต้องใช้เวลา และความเชื่อมั่นภาคเอกชนยังไม่ชัดเจน
น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงาน วิจัยเศรษฐกิจการเงิน และภาษาต่างประเทศ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจปี 2555 ว่าผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในประเทศไทยปีที่ผ่านมารุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี เชื่อว่าจะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายปี 2554 หดตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3
น.ส.ธัญญลักษณ์ กล่าวว่า ไม่แปลกใจหากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสสุดท้ายติดลบร้อยละ 3.3 ความเสียหายทางเศรษฐกิจใน 58 จังหวัด คาดว่าจะสูงถึง 240,000-330,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.3-3.1 ของจีดีพี โดยร้อยละ 70 ของความเสียหายอยู่ในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม สัญญาณการฟื้นตัวทยอยปรากฏขึ้นในหลายภาคส่วน ขณะที่การกลับเข้าสู่ภาวะปกติยังต้องใช้เวลา ความเชื่อมั่นภาคเอกชนฟื้นตัวขึ้นเช่นเดียวกับการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้ออ่อนแรงลง แต่อาจเป็นสถานการณ์ชั่วคราว
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555 นับเป็นปีที่ต้องตั้งรับกับหลายสถานการณ์เสี่ยง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นลักษณะระมัดระวังในลักษณะตัว V จะเติบโตร้อยละ 3.5-4.8 ส่วนกรณีปัญหายุโรปพอจัดการได้บ้าง กรณีแย่จริงๆ เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเหลือร้อยละ 1 สำหรับตัวแปรที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้แก่ การส่งออก ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐและปัญหาในสหภาพยุโรปในช่วง 6 - 12 เดือนข้างหน้า
สินค้าที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยุโรปมากที่สุด ได้แก่ ไก่แปรรูป เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เลนส์เครื่องปรับอากาศ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ
ดังนั้น การเติบโตของการส่งออกไทยจะลดลงจากร้อยละ 16.4 ในปีที่ผ่านมา เหลือเพียงร้อยละ 2 - 8 ในปี 2555 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยคงต้องฝากความหวังไว้กับการใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมากขึ้น มาตรการภาครัฐอาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าร้อยละ 1 ของจีดีพี ด้านอัตราดอกเบี้ยน่าจะยังทรงตัว แต่เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจะเพิ่มแรงกดดันต่อดอกเบี้ยในช่วงท้ายปี นอกจากนี้ ยังมีความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง
น.ส.ธัญญลักษณ์ กล่าวอีกว่า หากเศรษฐกิจยุโรปไม่แย่มาก ช่วงที่เหลือของปี รัฐบาลเดินหน้ามาตรการต่าง ๆ ได้แก่ เดือนมกราคมรัฐบาลเริ่มปรับโครงสร้างราคาพลังงานและทยอยเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น เดือนกุมภาพันธ์ มีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการเริ่มมีผลจริง มีการพิจารณามาตรการน้ำมันดีเซลทั้งการยกเว้นภาษีสรรพสามิตและการนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เดือนพฤษภาคม มีการพิจารณาค่าเอฟทีรอบใหม่
ขณะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกได้รับผลกระทบจากข้อพิพาทอิหร่านกับชาติตะวันตก ช่วงปลายปีดอกเบี้ยจะเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้น คาดว่าอัตราดอกนโยบายจะอยู่ที่ร้อยละ 3 เท่ากับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน ค่าเงินบาทปลายปีอาจแข็งค่าที่ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเงินไหลเข้าทวีปเอเชียเพิ่มขึ้นมากและมีโอกาสไหลกลับ ดังนั้นค่าเงินบาทจึงมีโอกาสแกว่งค่อนข้างแรง
น.ส.ธัญญลักษณ์ กล่าวถึงเศรษฐกิจโลกว่า ยังอยู่ในภาวะเสี่ยงจากปัญหาทางเศรษฐกิจจะพบว่า มีการว่างงานในระดับสูง การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า ส่วนปัญหาภาครัฐมีปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ในระดับประเทศกรีซมีภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว จึงเกิดการเดินหน้ามาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ ปัญหากรีซสัปดาห์นี้ต่อเนื่องสัปดาห์หน้าจึงเป็นจุดเปราะบางที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้มาตรการช่วยเหลือทางการเงินจะออกมามากแล้วก็ตาม
นอกจากนี้จะต้องติดตามเศรษฐกิจอิตาลีที่ถูกตั้งคำถามมีหนี้สินล้นพ้นตัวเช่นกันหากล้มมีผลต่อเจ้าหนี้รายใหญ่อย่างเยอรมันและฝรั่งเศส และปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง
ส่วนสถาบันการเงินมีปัญหาความเชื่อมั่นของผู้ฝากและนักลงทุน ความมั่นคงทางการเงินของสถาบันการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐ จะใช้นโยบายดอกเบี้ยดอกเบี้ยต่ำถึงปี 2557 และ เป็นไปได้จะออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมอาจอยู่ในรูปพันธบัตร ดังนั้น สภาพคล่องโลกในระยะข้างหน้าจึงยังค่อนข้างสูงต่อไป