xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์หั่นเครดิตสมาชิกอียูเพิ่ม5แห่ง คาดใน2ปีมีโอกาสปรับลดอันดับอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิเคราะห์บล.เอเซียพลัส ประเมินภายใน 2 ปีข้างหน้า สมาชิกในกลุ่มยุโรโซนมีโอกาสถูดลดอันดับความน่าเชื่อถือเพิ่มอีก หลังฟิทช์ประกาศลดเครดิตเพิ่มอีก 5 ประเทศ พร้อมแนะจับตาท่าทีการประชุมของอียูว่าจะมีการแก้ปัญหาไปในทิศทางไหน

รายงานข่าวจากฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส จำกัด เปิดเผยว่า ฟิทช์ เรทติ้งส์(FITCH) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศสมาชิกในยุโรป นำโดย การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนสู่ A จากเดิม AA-, อิตาลีสู่ A-จาก A+, เบลเยียมสู่ AA จาก AA+ สโลวีเนียสู่ A จาก AA- และไซปรัสสู่ BBB- จากเดิม BBB ขณะที่คงอันดับความน่าเชื่อถือของไอร์แลนด์ที่ BBB+ เช่นเดิม โดยประเทศทั้งหมดมีแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือในเชิงลบ พร้อมทั้งกล่าวว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้ยังมีโอกาสถูกปรับลดอันดับลงอีกในช่วงเวลา 2 ปีข้างหน้าเนื่องจากปัญหาหนี้ในยุโรปที่ยังคงอยู่ในช่วงของการแก้ไข

อย่างไรก็ตามการปรับลดเครดิตรอบนี้เป็นสิ่งที่ตลาดคาดการไว้อยู่แล้วหลังจากในช่วงกลางเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา S&P ได้ออกมานำร่องปรับลดเครดิตเรตติ้งของประเทศสมาชิกในยุโรปถึง 9 แห่ง จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 17 แห่งไปแล้ว ดังนั้นประเด็นนี้น่าจะมีน้ำหนักต่อภาพรวมการลงทุนน้อย เนื่องจากเชื่อว่าตลาดน่าจะให้ความสนใจกับการประชุมผู้นำยุโรปที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้แม้ตลาดยังคงกังวลต่อสถานการณ์แก้ไขปัญหาสาธารณะในกรีซก็ตาม แต่การที่ประเทศผู้นำเศรษฐกิจของโลก ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินอ่อนตัว โดยเฉพาะสหรัฐ ที่ FED ประกาศชัดเจนว่าจะใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% ต่อไปถึงกลางปี 2556 เป็นปี 2557 หรือ แม้แต่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังคงใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ 0.5% พร้อมกับใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ก.พ. ตลาดคาดหมายว่า BOE อาจจะเพิ่มเม็ดเงิน QE รอบใหม่อีก 5 หมื่นล้านปอนด์ หลังโครงการ QE เดิมที่ดำเนินตลอดปี 2554 ใกล้เสร็จสิ้น
โดยวงเงินที่กำหนดใช้ในช่วงเดือน ต.ค. 2554 7.5 หมื่นล้านปอนด์ สามารถใช้หมดสิ้นตามแผนในเดือน ม.ค. เท่ากับวงเงิน QE รอบนี้ใช้ไปทั้งสิ้น 2.75 แสนล้านปอนด์ นับจากเดือน มี.ค. 2552 ปัจจัยเหล่านี้ น่าจะหนุนให้ตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อปริมาณเงินในระบบ (Money Supply) จะค่อย ๆ ดีขึ้นในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า หลังจากที่เผชิญกับปัญหาสภาพคล่องในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งน่าจะหนุนให้สินค้าโภคภัณฑ์ และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ มีโอกาสขยับเดินหน้าต่อ แม้อาจจะมีการปรับฐานระยะสั้นตามแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ทั้งนี้หลังการเจรจาประนอมหนี้ระหว่างกรีซ กับเจ้าหนี้ดำเนินมาต่อเนื่องเป็นเดือน จนถึงวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน โดยยังติดเงื่อนไขในเรื่องเดิมๆ คือ ผลตอบแทนที่กรีซอยากจ่ายในอัตราที่ต่ำกว่าที่เจ้าหนี้ต้องการ สำหรับการ Refinance พันธบัตรชุดเดิม หลังจากที่เจ้าหนี้ยินยอมที่จะให้ Debt Haircut ที่ 50% ขณะกรีซก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อเจ้าหนี้ และผู้นำยุโรป อย่างเยอรมัน และฝรั่งเศส ในการตัดลดงบประมาณรายจ่ายที่ประสบภาวะขาดดุลเรื้อรัง รวมถึงความพยายามในการเพิ่มการจัดเก็บภาษีรายได้ และเชื่อว่าประเด็นนี้ยังเป็นสิ่งที่ตลาดให้ความสนใจต่อไป

นอกเหนือจากความพยายามร่วมกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุโรปหลังจากที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกต่างประเมินว่า GDP Growth ของยุโรปน่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือติดลบเป็นครั้งแรกหลังจากที่เคยประสบภาวะถดถอยในช่วงวิกฤติซับไพร์ม ทั้งนี้พิจารณาจากสถานการณ์รอบด้านแล้ว คาดว่าประเทศผู้นำยุโรป ไม่น่าจะผลักดันให้กรีซ รีบเร่งในการปรับโครงสร้างที่คั่งค้างมานานได้ได้ตามเป้าหมาย ขณะที่ปลายไตรมาสแรกของปีนี้ ถึงกำหนดกรอบเวลาที่ผู้นำยุโรปได้ระบุไว้ว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซ เป็นรอบ 2 วงเงิน

โดยวงเงินช่วยเหลือรอบแรก 110 แสนล้านเหรียญยูโรป บวก รอบ 2 เป็นเงินทั้งสิ้น 269 แสนล้านยูโรป หรือยอดเงินช่วยเหลือรวม คิดเป็น 82% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด 329 แสนล้านยูโรป โดยกรีซได้รับความช่วยไปเพียง 50% ของเงินช่วยเหลือรอบแรกเท่านั้น ขณะที่หนี้สาธารณะที่ครบกำหนดในปี 2555 จำนวน 4.8 หมื่นล้านเหรียญยูโรซึ่งหากการเจรจาประนอมหนี้ในกรีซยังไม่ได้ข้อสรุปโดยเร็ว คาดว่าปัญหาการล้มละลายของกรีซ น่าจะมีส่วนกดดันตลาดหุ้นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น