ภาคเอกชน เรียกร้อง กนง.ลด ดบ.นโยบาย เหลือ 1.25-2.00% นาน 2-3 ปี เพื่อฟื้นฟูภาคธุรกิจ-กระตุ้น ศก.ลดภาระผู้ประกอบการ และช่วยปลุกความเชื่อมั่นการบริโภค อุตฯ ประกาศเกณฑ์นำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ ช่วยโรงงานที่ถูกน้ำท่วม ชี้ ต้องนำเข้ารถยนต์ที่มีแบบใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ผลิตไม่ได้
นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนต้องการให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมวันพุธที่ 25 มกราคม 2555 นี้ ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปัจจุบันอยู่ระดับ 3.25% ต่อปี ให้เหลือไม่เกิน 1.25-2.00% เป็นระยะเวลา 2-3 ปี ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในประเทศ และเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะหาก กนง.ยังใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงอยู่จะทำให้ภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ยาก
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตที่สูงมาก ทั้งเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าแรง ต้นทุนวัตถุดิบ และราคาน้ำมันดีเซล เป็นต้น หากภาครัฐไม่มีการลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการบ้างเชื่อว่าในอนาคตธุรกิจของไทย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) คงจะดำเนินธุรกิจได้ลำบาก
“ภาคเอกชนมั่นใจว่า การใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำจะเป็นมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่ดีกว่ามาตรการอื่นๆ หลายโครงการของรัฐบาลที่กำลังจะออกมา เพราะนอกจากจะลดต้นทุนผู้ประกอบการ 3 ล้านรายแล้ว ยังช่วยลดหนี้สินของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ภาคการบริโภคฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว”
ทั้งนี้ ส.อ.ท. ประเมินว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้ จะยังไม่ดีมากนัก แต่โชคดีที่ภาคเกษตรยังเป็นตัวขับเคลื่อนได้ ส่วนเศรษฐกิจโลกก็คงมีอาการแย่กว่าของไทย อย่างน้อยปัญหาของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจยุโรป คงต้องชะลอตัวอีก 2 ปี ดังนั้น เรื่องของอัตราดอกเบี้ยควรที่จะเร่งปรับลด เพราะอีกไม่นานต้นทุนค่าจ้างขั้นต่ำของผู้ประกอบการจะเริ่มมีผลอีกแล้ว หาก กนง.ยังลดดอกเบี้ยเพียง 0.25-0.50% ถือว่าไม่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยเลย
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขออนุมัตินำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปเพื่อทดแทนรถยนต์รุ่นที่ผลิตในประเทศ สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม พร้อมยกเว้นภาษีนำเข้า และต้องการได้รับการอนุมัติจาก สศอ.โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีการผลิตรถยนต์ที่ครบวงจรอย่างน้อย 3 ขั้นตอน คือ ผลิตตัวถัง ทำสีตัวถัง และประกอบรถยนต์ และจะต้องเป็นโรงงานที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม
ทั้งนี้ รถยนต์ที่นำเข้าสำเร็จรูปต้องเป็นในรูปแบบเดียวกันที่ถูกน้ำท่วมหรือใกล้เคียง รวมถึงราคาต้องใกล้เคียงกันด้วย โดยผู้นำเข้าต้องแสดงหลักฐานว่าโรงงานถูกน้ำท่วมและผลิตไม่ได้ ที่สำคัญต้องเป็นโรงงานที่ผลิตครบวงจร และปริมาณที่นำเข้าต้องไม่เกินปริมาณที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในช่วงเดียวกันของปี 2554
นอกจากนี้ การนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ต้องเป็นโรงงาน หรือผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายให้ผู้ประกอบรถยนต์ในประเทศ และต้องเป็นชิ้นส่วนใหม่ที่ไม่เคยถูกใช้งาน อย่างไรก็ตาม ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2555
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องการยื่นเรื่องขออนุญาตนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งประกาศของ สศอ.เกี่ยวกับการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วน ไม่มีแบบฟอร์มให้ผู้ประกอบการกรอก ทำให้ขั้นตอนการปฏิบัติไม่ชัดเจน โดยไม่มีหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องนี้โดยตรง