xs
xsm
sm
md
lg

ทองคำใกล้หรือไกลกับคำว่า "ฟองสบู่" แนะจุดสังเกตราคาต่อปัจจัยพื้นฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัจจุบัน “ทองคำ” ได้ก้าวมาเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่ได้รับการยอมรับอย่างมาก หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปี ก่อน ราคาทองคำยังอยู่ที่ระดับ 288.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มาปิดสิ้นปี 2011 ที่ระดับ 1,570 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5.45 เท่า ในระยะเวลาประมาณ 12 ปี หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 37% ขณะที่ได้ทำสถิติสูงสุดไว้ที่ 1,923 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงต้นเดือนกันยายนในปีที่ผ่านมา ชัดเจน ว่าในช่วงที่ผ่านมา ราคาทองคำที่ปรับขึ้นมานั้น เป็นผลกระทบจากหลายประการ

ประการแรก การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ** ที่อ่อนตัวมาตลอดตามสภานะทางการคลังและ สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ ประการที่สอง ภายใต้ดอกเบี้ยต่ำทั่วโลกอันทำให้ราคาของเงินมีมูลค่าต่ำหลังจากทั่วโลกได้ใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ประการที่สาม คือ ความเคลื่อนไหวของการเก็งกำไรในตลาดทองคำระยะสั้นที่เราได้เห็นกันมากขึ้น ซึ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบันจิม โรเจอร์ส (Jim Rogers) ผู้คล่ำหวอดอยู่กับสินค้าโภคภัณฑ์ได้ให้เป้าหมายราคาทองคำไว้ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในอีก 5 – 10 ปี ข้างหน้า แต่ทว่าตลาดกลับมองว่าราคาทองคำจะแตะระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ภายในสิ้นปีนี้เท่านั้น

แม้คนจะสงสัยกันมากว่า ราคาทองคำจะกำลังเป็นฟองสบู่ แต่การทรุดตัวของราคาก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นอย่างง่ายๆ นัก ด้วยเหตุผลหลายประการ ประการ แรก ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในสหรัฐและยุโรปนั้น** ถือเป็นปัญหาระยะยาว ซึ่งน่าจะเป็นหลักประกันได้ว่า สถานะของเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นน่าจะอยู่ในภาวะอ่อนแอในระยะยาว ดังนั้นการลงทุนในตลาดเงินจึงไม่คุ้มค่าเท่ากับการลงทุนในทองคำ

ประการที่สอง จากปัญหาหนี้สาธารณะในสหรัฐ ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐต้องใช้มาตรการลดค่าใช้จ่าย ช่องทางกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐก็จะเหลือน้อย เป็นผลต่อเนื่องให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำที่ 0-0.25% ต่อไปประการที่สาม สภาทองคำโลกยังชี้ว่า อินเดียและจีนกำลังขึ้นมาเป็นผู้มีบทบาทใหม่ในตลาดทองคำโลก และจะเป็นผู้นำความต้องการของทองคำโลกด้วย นอก จากนั้น การเปลี่ยนบทบาทของธนาคารกลางทั่วโลกจากการเป็นผู้ขาย สู่การเป็นผู้ซื้อทองคำ ได้ส่งผลต่อความต้องการและราคาทองคำในตลาดโลกมากขึ้น

กลับมาพิจารณาคำว่า “ฟองสบู่”หากเรามองว่าฟองสบู่ คือภาวะที่เมื่อใดที่ราคาตกแล้วจะไม่มีความต้องการซื้อเหลืออยู่นั้นเราจะพบว่า ทองคำไม่เป็นเช่นนั้น เพราะที่ผ่านมาเมื่อใดที่ราคาตกก็จะมีแรงซื้อเข้ามาเป็นระยะๆ เพราะทั่วโลกต่างมองว่าทองคำคือตัวเลือกที่ดีที่สุด ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ อันทำให้อุปสงค์ทองคำยังคงมีอยู่ หากมองว่า“ฟองสบู่” คือการที่ราคาขึ้นไปโดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ อันนี้ก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเราต่างรู้ดีว่า การปรับขึ้นของราคาทองคำนั้น ยังมีปัจจัยรองรับอยู่อย่างหนาแน่น

ส่วนการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำต่อไปของสหรัฐ นั้นก็ถือเป็นหลักประกันสำคัญที่จะทำให้นักลงทุนยังคงเข้าลงทุนในตลาดทองคำต่อไป หรืออย่างน้อยที่สุดก็ยังคงสัดส่วนการลงทุนในทองคำไว้ซึ่ง ทั้งหมดนี้คงตอบคำถามได้ว่า ทองคำเข้าสู่ภาวะฟองสบู่แล้วหรือไม่ ส่วนที่ว่าภาวะดังกล่าวจะอยู่ใกล้หรือไกลขนาดไหนอันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าราคาทองคำยังตอบสนองต่อปัจจัยแวดล้อมอยู่หรือไม่ แน่นอนว่าเมื่อใดที่ราคาทองคำไม่ตอบสนองต่อปัจจัยพื้นฐานในทิศทางที่ถูกต้องแล้วนั่นก็หมายความว่าภาวะฟองสบู่ในทองคำคงใกล้เข้ามาทุกที
กำลังโหลดความคิดเห็น