xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. ห่วงเก็บเงินแบงก์ใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ กระทบความมั่นคงระบบสถาบันการเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท. ห่วงเก็บเงินแบงก์ใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ กระทบความมั่นคงระบบสถาบันการเงิน ซึ่งถ้าสถาบันการเงินไทยมีปัญหา ก็อาจจะส่งผลต่อระบบ ศก. โดยรวมของประเทศได้ ขณะที่ ส.ธนาคาร ครวญไม่เป็นธรรม เพราะแบงก์ที่มีปัญหาปิดไปหมดแล้ว แต่แบงก์ที่มีในปัจจุบันต้องมาแบกภาระจ่ายแทน คาดหากเปิด "เออีซี" แบงก์ไทยต้นทุนสูงแข่งลำบาก พร้อมฝากถาม 0.4% ทำไมไม่เก็บแบงก์รัฐบ้าง

นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร ธนาคารแห่งประทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า วันนี้ (18 ม.ค.) ธปท.ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ ถึงเรื่องการโอนหนี้ 1.14 ล้านล้านบาทมาให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(กองทุนฟื้นฟูฯ) และ ธปท.ดูแลตามร่าง พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ...ของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ว่า ปัญหาขณะนี้ยังชี้แจงอะไรไม่ได้มาก เพราะยังไม่เห็นร่างจริง พ.ร.ก.ดังกล่าวเป็นรูปเป็นร่าง แต่ธปท.ก็พยายามทำหน้าที่ให้ครอบคลุมในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ซึ่งหาก พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้ ธปท.ก็ต้องปฏิบัติตาม

“ปัญหาตอนนี้ถึงไม่โอนหนี้มาให้กองทุนฟื้นฟูฯ รัฐก็ต้องรับภาระจ่ายหนี้ก้อนนี้อยู่แล้ว เพราะถ้าพันธบัตรเดิมที่คลังออกมาใช้หนี้กองทุนครบกำหนดชำระ คลังก็ต้องออกพันธบัตรใหม่มาทดแทนให้เจ้าหนี้เดิม ส่วนกองทุนฟื้นฟูฯ เดิมจะปิดตัวในปี 2556-2557 แต่เมื่อคลังให้อยู่ต่อก็ต้องทำหน้าที่ดูแลสถาบันการเงินต่อไป แม้ว่าสถาบันการเงินในปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาด้านฐานะเหมือนในอดีตก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าการที่ พ.ร.ก.สั่งให้เก็บเงินนำส่งใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เก็บร้อยละ 0.4 กระทบความมั่นคงของสถาบันการเงินไทย ซึ่งถ้าสถาบันการเงินไทยมีปัญหาก็อาจจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้”

นายชาญชัย กล่าวว่า ซึ่งท่าทีรับฟังการชี้แจงต่อ กมธ.แก้ไขหนี้ฯ ครั้งนี้ หลายฝ่ายก็ห่วงเช่นกัน โดยนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ตัวแทนสมาคมธนาคารไทย เองก็ได้ชี้แจงด้วยว่าผลจากร่าง พ.ร.ก.ทำให้สมาคมธนาคารไทยเป็นห่วงใน 3 เรื่อง คือ 1.สถาบันการเงินที่อยู่ในระบบขณะนี้ไม่ได้สร้างความเสียหายให้กองทุนฟื้นฟูฯ ในขณะนั้น เพราะสถาบันการเงินที่สร้างความเสียหายเหล่านั้นปิดตัวไปหมดแล้ว การโอนภาระมาให้สถาบันการเงินในปัจจุบันอาจจะไม่เป็นธรรม

และ 2.ภาระที่จ่ายเงินสมทบควรคำนึงถึงความมั่นคงของสถาบันการเงินด้วย เพราะภาระเงินนำส่งที่ปัจจุบันต้องจ่ายให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากเพื่อได้รับการคุ้มครองเงินฝากที่ 0.4% ก็สูงกว่าการจ่ายของธนาคารในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งต่อไปหากมีการเปิดเสรีก็อาจทำให้ธนาคารในไทยแข่งขันกับธนาคารในเออีซีลำบากขึ้น และ 3.เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันที่เก็บ 0.4% ของฐานเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่เก็บจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ

ทั้งนี้ กมธ.แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้พิจารณานโยบายฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วม การสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการป้องกันน้ำท่วมระยะยาวของรัฐบาล จากการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับ คือ 1.ร่าง พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ....2.ร่าง พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อการบูรณะและฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย พ.ศ. 3.ร่างพ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนประกันภัย พ.ศ. ... 4.ร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. โดยกมธ.ได้เชิญกระทรวงการคลัง ธปท. ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก สมาคมธนาคารไทย มาร่วมชี้แจงด้วย

ด้านนายประวิช สารกิจปรีชา คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ กล่าวว่า การประชุมบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ ครั้งนี้ยังไร้ข้อสรุปอัตราการเก็บเงินนำส่งเพื่อใช้หนี้ตามร่าง พ.ร.ก. เนื่องจาก ธปท.ก็ยังไม่ได้แจงรายละเอียดกลับมาที่กองทุนฟื้นฟูฯ ดังนั้น บอร์ดจึงทำได้เพียงหารือถึงแนวทางการชำระหนี้อื่นๆ หาทางวางแผนกันใหม่ เพื่อจะได้นำไปหารือร่วมกับกระทรวงการคลังต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น