xs
xsm
sm
md
lg

พันธบัตรชดเชยเงินฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เงินเฟ้อของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุดอยู่ที่ 4.04% ในเดือนเมษายนปีนี้เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนปีที่แล้ว หรือเพิ่มขึ้น 1.38% จากเดือนมีนาคม 2554
 

อัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาจากราคาอาหารโดยเฉพาะพืชผักและผลไม้ที่แพงขึ้นประมาณ 21% เมื่อเทียบกับราคาในปีก่อน ในขณะที่ราคาเนื้อสัตว์แพงขึ้นประมาณ 9%

และเมื่อพรรคการเมืองต่างหาเสียงด้วยนโยบายจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ในขณะที่ราคาน้ำมันในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้น ก็ย่อมจะทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจสูงขึ้นไปด้วย ต้นทุนเหล่านี้ย่อมจะถูกส่งผ่านไปยังราคาสินค้า และทำให้เงินเฟ้อมีอัตราสูงขึ้นไปอีก ทำให้คาดกันว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ในปัจจุบัน ณ วันที่ 30 พค 54 ซึ่งอยู่ที่ 2.75% จะสูงขึ้นไปจนถึง 3.50% ในปีนี้

วรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. บัวหลวง จำกัด บอกว่า เงินเฟ้อนอกจากจะทำให้รายจ่ายของเราในการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นศัตรูสำคัญของเงินออม เพราะเงินเฟ้อจะทำให้ค่าของเงินออมลดน้อยลงไป เงินเฟ้อเป็นต้นเหตุที่ทำให้มูลค่าเงินลดลงตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เมื่อ 30 ปีก่อน ก๋วยเตี๋ยวราคาชามละ 10 บาท วันนี้ก๋วยเตี๋ยวชามละ 35 - 50 บาทแล้ว และในอีก 10 ปีข้างหน้าราคาก๋วยเตี๋ยวจะสูงขึ้นไปเป็นชามละเท่าไหร่ในเมื่อพื้นที่เพาะปลูกลดลงไปทุกทีจากการขยายตัวของเมือง และผลกระทบจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ผลผลิตอาหารลดน้อยลง

ปัญหาก็คือ เงินเก็บออมเพื่อเอาไว้ใช้ในยามเกษียณของเราในอนาคตที่อยู่ในรูปแบบของเงินฝากธนาคาร พันธบัตร ตราสารหนี้ หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ หรือลงทุนผ่านกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มันจะพอใช้จ่ายไปอีก 20 ปีหรือไม่ ในเมื่อข้าวของมีแต่จะแพงขึ้นไปทุกวัน

และด้วยอัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่ 4.04% ต่อปี แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี ที่ไม่เกิน 3.00% ก็แปลว่าหากเราเก็บออมเงินทั้งหมดในเงินฝาก ค่าเงินของเราก็หดลงไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1% และหากเราฝากออมทรัพย์อย่างเดียวซึ่งได้ดอกเบี้ยเพีบง 0.75% ต่อปี ค่าของเงินเราจะต่ำกว่าเงินเฟ้อถึงกว่า 3.29% ทีเดียว
 

การออมและการลงทุนที่ดีจะต้องปกป้องเงินออมที่เราทำมาหาได้อย่างเหนื่อยยากไม่ให้สูญเสียค่าของเงินไป นั่นก็คืออย่างน้อยจะต้องชนะเงินเฟ้อ
 

เรื่องนี้ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯ เขียนเอาไว้ได้ดีทีเดียว ท่านบอกว่า ให้เราลงทุนไปกับเงินเฟ้อ โดยลงทุนกับสิ่งที่ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อด้วยแนวคิดที่ว่า “ถ้าน้ำจะขึ้น ก็ขอขึ้นตามน้ำ เพื่อให้สามารถลอยคอขึ้นตามน้ำ รักษาค่าของเงินที่เราเก็บออมไว้ได้”  ทั้งนี้ ในช่วงที่เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น การฝากเงิน หรือพันธบัตรและตราสารหนี้ โดยเฉพาะประเภทที่มีระยะเวลายาว จึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยจะแพ้อัตราเงินเฟ้อ “หากเราฝากเงินอย่างเดียว เมื่อเรากลับไปที่แบงก์ ถอนเงินต้นและดอกเบี้ยที่ได้ไปซื้อของต่างๆ จะซื้อของได้น้อยลง เทียบกับถ้าการเอาเงินต้นที่มีไปซื้อของมาเก็บไว้แต่ต้นปี เรียกว่าจนลง”
 

เมื่อกลับไปดูวิธีทำให้เงินงอกเงยขึ้นแบบอื่นจะพบว่าหากลงทุนในหุ้นตั้งแต่มีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามสถิติที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำไว้ พบว่าถ้าหักผลตอบแทนจากอัตราเงินเฟ้อแล้ว หุ้นยังให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าเงินฝากราว 4 เท่า และยังมากกว่าการลงทุนในพันธบัตร รวมถึงการลงทุนในทองคำ (คิดในรูปของเงินบาท) อีกด้วย

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เราน่าจะนำเงินทั้งหมดไปซื้อหุ้น ใช่ไหม ?
 

คำตอบสำหรับคนทั่วๆ ไปก็คือ เราไม่ควรเอาไข่ทุกใบใส่ถุงเดียวกันแล้วไปชั่งกิโลขาย เพราะหากพลาดพลั้งหลุดมือไป ไข่ทุกใบในถุงเดียวกันอาจจะแตกหมด

นั่นก็คือหลักการลงทุนที่สอนกันว่าเราควรกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ให้เหมาะสมกับตัวเรา หรือ Diversification เพื่อลดความเสี่ยงที่หลักทรัพย์บางประเภทที่เราลงทุนจะได้รับผลตอบแทนติดลบในแต่ละปี เพราะโดยปกติแล้วมักจะไม่มีผลตอบแทนไปในทางเดียวกัน คือไม่ใช่เป็นบวกไปหมดและไม่ใช่ติดลบไปทั้งหมด

เราจึงอาจกระจายการลงทุนอยู่ในหุ้น 40% เงินฝาก 5% พันธบัตรและตราสารหนี้ 40% อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ อีก 15% เป็นต้น

แต่นอกเหนือไปจาก หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ และสินค้าโภคภัณฑ์ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว เรากำลังจะมีการลงทุนที่เป็นทางเลือกใหม่ๆ สำหรับส่วนที่เราต้องการจัดสรรไปลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ โดยมีข้อดีคือจะชนะเงินเฟ้อด้วยความเสี่ยงในระดับเดียวกับพันธบัตรรัฐบาล
 
ทางเลือกใหม่ที่เราจะสามารถเลือกได้ก็คือ พันธบัตรแบบใหม่ที่กระทรวงการคลังจะออกในเดือนกรกฎาคมนี้ ที่เรียกกันว่า พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation-Linked Bond หรือ ILB) ซึ่งจะให้ผลตอบแทนตามที่ระบุหน้าตั๋วพันธบัตรในอัตราต่ำที่ใกล้เคียงกับออมทรัพย์ในอัตราคงที่ แต่จะบวกผลตอบแทนนั้นด้วยอัตราเงินเฟ้อ โดยถ้าเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ ณ วันที่ออกตราสารหรือวันตั้งต้น ดอกเบี้ยที่จะได้รับในงวดนั้นก็จะเพิ่มขี้น ในทางกลับกันถ้าเงินเฟ้อปรับลดลงเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ ณ วันที่ออกตราสารหรือวันตั้งต้นดอกเบี้ยที่จะได้รับในงวดนั้นก็จะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ระบุไว้ ดังนั้น ผลกระทบดังกล่าวจะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อ ณ ช่วงเวลานั้น แต่โอกาสที่ประเทศไทยจะเผชิญกับสภาวะเงินฝืดน่า จะมีน้อย เพราะตามนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ ประกาศออกมานั้น จะทำให้รัฐบาลที่ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหนต่างมีแนวโน้มที่จะเร่งใช้จ่ายและกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนในโครงการต่างๆ สูงมาก

จึงเป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลไทยจะออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ วงเงิน 20,000-40,000 ล้านบาท ในเดือนกรกฎาคม ปีนี้ โดยเป็นพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งเท่ากับรัฐบาลสัญญาว่าผลตอบแทนจากการถือพันธบัตรดังกล่าวจะสูงกว่าเงินเฟ้อตลอดช่วง 10 ปี ทั้งนี้ จะจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยต้องซื้อขั้นต่ำที่ 100,000 บาท หรือมากกว่านั้นแต่เป็นหน่วยละ 1 แสนบาท และผู้ลงทุนจะต้องเสียภาษีรายได้จากผลตอบแทนตามกฎหมาย

ผลการศึกษาของ บล. ภัทร ระบุว่า“การออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกในปี 1981 ที่ประเทศอังกฤษ ส่วนรัฐบาลสหรัฐออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อครั้งแรกในปี 1997 และในปัจจุบันมีประเทศกำลังพัฒนา 10 ประเทศที่ออก ILB ทั้งนี้ พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจากนักลงทุนทั่วโลก วัดได้จากมูลค่าโดยรวมของ ILB ที่รวบรวมโดย Barclays World ปรากฏว่ามีการขยายตัวเฉลี่ย 19% ต่อปีตั้งแต่ปี 2003 และมีมูลค่ารวมสูงกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลก สำหรับดัชนี Barclays ILB ในส่วนของประเทศตลาดเกิดใหม่นั้นมูลค่าขยายตัวสูงถึง 56% ต่อปีและปัจจุบันมีมูลค่าทั้งสิ้นเท่ากับ 409,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากประเทศไทยสามารถออก ILB ได้ในเดือนกรกฎาคมตามที่วางแผนเอาไว้ ไทยก็จะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศที่ 2 ในเอเชียต่อจากเกาหลีใต้ที่ออก ILB ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแนวหน้าในเรื่องนี้”
 

พันธบัตรประเภทนี้มีชื่อเรียกต่างกันไปตามแต่ประเทศผู้ออก ในสหรัฐอเมริกาเรียก Treasury Inflation -Protected Securities หรือ Treasury Inflation-Indexed Securities (TIPS) ในอังกฤษรียกว่า Index-Linked Gilts (ILG) ในแคนาดาเรียกว่า Real Return Bond หรือ RRB และในญี่ปุ่นเรียกว่า Inflation-Index Bond (JGBi) เป็นต้น ในหลายๆ ประเทศ คนที่นิยมลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อมักเป็น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และบริษัทประกันชีวิต เพราะว่าพันธบัตรประเภทนี้จะช่วยให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนตามที่ต้องการ และยังช่วยลดความผันผวนในพอร์ตการลงทุนด้วย

และหากกองทุนรวมสามารถลงทุนในพันธบัตรประเภทนี้ได้ ก็จะช่วยให้นักลงทุนที่ไม่ได้มีเงินลงทุนทีละแสนบาท สามารถมีส่วนหนึ่งของเงินออมไปลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อได้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น