xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการแนะรัฐบริหารหนี้สาธารณะสูง 3.6 แสนล.หากภาวะ ศก.ช่วงขาลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการ ศศ.จุฬาฯ เตือน รัฐเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ 3.6 แสนล้านบาท อุดหนุนโครงการประชานิยม ส่งผลให้ฐานะการคลังเสี่ยงหากไทยประสบภาวะ ศก.ขาลง แนะดึงตัวเลขหนี้แอบแฝงใน 6 แบงก์รัฐออกมาเคลียร์ให้ชัด



นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนโยบายการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะของรัฐบาลที่มีผลให้หนี้สาธารณะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) จากเดิมอยู่ที่ 40% ของจีดีพีนั้น โดยระบุว่า ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ระดับของตัวเลข แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลได้คำนึงถึงแรงเสียดทานและภาพรวมเศรษฐกิจในอนาคตไว้แล้วหรือยัง ซึ่งในความเห็นส่วนตัวแล้ว หากเศรษฐกิจไทยเป็นขาขึ้นตัวเลขหนี้สาธารณะดังกล่าวถือว่าไม่สูงมากเกินไป แต่ถ้าเศรษฐกิจเป็นขาลงตัวเลขหนี้สาธารณะระดับนี้ถือว่าค่อนข้างสูง ซึ่งเศรษฐกิจขาลงในที่นี้หมายถึงระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจเริ่มน้อยกว่า 2-3%

“ผมไม่แน่ใจว่าการอนุมัติงบประมาณเงินกู้เพิ่มเติมที่มีผลให้ตัวเลขหนี้สาธารณะขึ้นมาอยู่ที่ 43.5% มาจากการคำนวณที่ถูกต้องและพิจารณารอบด้านแล้วหรือไม่ เพราะถ้าเศรษฐกิจปรับลดลงตัวเลขหนี้ส่วนนี้ จะเพิ่มสูงตามไปด้วย ดังนั้น ควรดูด้วยว่าเศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการทนรับแรงเสียดทานได้มากน้อยแค่ไหน”

นอกจากนี้ ตนเองอยากให้รัฐบาลนำหนี้ที่แอบแฝงอยู่ในหน่วยงานต่างๆ เข้ามาคำนวณด้วย เช่น หนี้ที่อยู่ในรูปของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งมีจำนวนค่อนข้างมาก ถ้าคำนวณหนี้ในส่วนนี้เข้ามาเชื่อว่า ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลปัจจุบันน่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 43-44% โดยยังไม่รวมภาระหนี้ที่จะก่อขึ้นใหม่

ส่วนหนี้เงินกู้ที่จะนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวซึ่งอยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท ตรงนี้ถือเป็นโครงการที่ช่วยอุดหนุนภาคการเกษตร แต่ต้องลงไปดูในรายละเอียด ว่า ลักษณะการอุดหนุนมีมากน้อยแค่ไหน ถ้ามากไปก็เท่ากับว่าเป็นการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรให้มาปลูกข้าวมากกว่าที่จะเป็นการช่วยอุดหนุนธรรมดา

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การกระตุ้นโดยก่อหนี้เพิ่ม ควรเป็นไปในลักษณะของการสนับสนุนการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

“เราควรดูแลให้ระดับหนี้สาธารณะไม่สูงมากเกินไป เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเกิดปัญหากับเศรษฐกิจขึ้นมา เมื่อเกิดปัญหาเราก็สามารถใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นได้ เวลานี้ที่เรามีปัญหาก็เป็นเรื่องที่ควรจะใช้จ่ายเพื่อกระตุ้น แต่เมื่อฟื้นตัวขึ้นมาได้ ก็ควรลดระดับหนี้สาธารณะลง อยู่ระดับกว่า 30% ได้จริง ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก”
กำลังโหลดความคิดเห็น