xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมแบงก์เตือน ธปท. ใช้มาตรการสู้ “QE3” นานไป อาจแบกหนี้หลังแอ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมแบงก์หวั่น ธปท. ใช้มาตรการสู้ “QE3” แทรกแซงค่าเงินเพื่อดูแลเสถียรภาพ “ค่าบาท” อาจต้องเจอปัญหาแบกหนี้หลังแอ่น เพราะมาตรการ “QE3” รอบนี้ไม่มีทีท่าว่าจะมีวันจบ แนะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.27 ล้านล้านดีกว่า เพราะช่วงนี้ถือว่าเหมาะสมที่สุด

การประชุมคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ที่มี นายวิทวัส บุญญสถิตย์ ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ได้พิจารณาเรื่อง แนวทางการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินจากการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นการกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 2.27 ล้านล้านบาท โดยเชิญนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย

นายธวัชชัย กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรสลับกันใช้นโยบายการเงินระหว่างการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ และการกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ เพราะหากเลือกใช้อย่างหนึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาได้ โดยเฉพาะภาคการส่งออก เช่น ถ้าใช้การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อมากเพียงอย่างเดียวเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยไม่ใช้การกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการไม่แทรกแซงค่าเงินเลยจะสร้างปัญหาแก่ธุรกิจส่งออก

นายธวัชชัย กล่าวว่า การที่มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE3) รอบที่ 3 ออกมาจากสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ เริ่มมีคำถามเกิดขึ้นว่า ธปท.จะสามารถรับภาระขาดทุนจากการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินได้ตลอดไปหรือไม่ เนื่องจากมาตรการของสหรัฐฯ รอบนี้เหมือนจะไม่มีจุดจบ เกรงว่าถ้า ธปท.ขาดทุนสะสมมากเป็นห่วงจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทำให้ต้องไปของบประมาณจากกระทรวงการคลังตอนนั้นจะส่งผลให้ ธปท.เสียความเป็นกลาง และความเป็นอิสระได้ ดังนั้น ธปท.ต้องสลับใช้ทั้งสองนโยบายให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

“ในภาคเอกชนมีการประเมินแล้วว่าการช่วยเรื่องอัตราค่าเงินบาทของรัฐบาลเพื่อให้ผู้ส่งออกไปได้เรื่อยๆ แบบนี้ประเทศชาติจะไปไม่รอดเหมือนกัน เวลานี้ตลาดใหญ่สำคัญสองแห่ง คือ สหรัฐอเมริกา และยุโรปได้หายไปแล้ว เราอาศัยการส่งออกคิดเป็น 70%ของจีดีพีก็ไปไม่รอด เอกชนได้ข้อร้องรัฐบาลมาตั้งนานแล้วว่าทำอย่างไรให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศได้เพื่อเอากำไรกลับมา เพราะต่อไปจะขายของอย่างเดียวไม่ได้แต่ต้องลงทุนด้วย”

ด้านนายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐมีความจำเป็นหลังจากไทยเว้นว่างการลงทุนในลักษณะนี้มานานตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 โดยอยู่ในระดับเพียง 20-25% เท่านั้น ไม่เคยสูงกว่านี้ ยิ่งไทยเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนมากเท่าไหร่ โครงสร้างพื้นฐานยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น เพื่อสร้างโอกาสใหม่ในการลงทุนให้มากขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้จะทำไม่ได้เลยถ้าปราศจากการสนับสนุนจากภาครัฐ

“จังหวะนี้มีความเหมาะสมที่สุดที่ไทยจะลงทุนเพราะคู่แข่งในเวทีโลกอย่างสหรัฐอเมริกายังคงต้องอ่อนแออยู่ในระยะหนึ่ง ส่วนยุโรปกำลังเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ ต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี ถึงจะกลับมาเป็นปกติได้ จะเหลือเอเชียเท่านั้นที่ดูดี ซึ่งเราต้องแข่งกับประเทศอื่นอีกมากเช่น จีน อินเดีย หรือแม้แต่ ภายในอาเซียนด้วยกันเอง ดังนั้น เวลานี้จะเป็นโอกาสดีที่ไทยจะสร้างความสนใจเพื่อดึงการลงทุนใหม่ย้ายมาที่เมืองไทย ถ้าเราตอบโจทย์เรื่องโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้เราก็จะไม่มีความสนใจเท่ากับคู่แข่ง และเราก็จะพลาดโอกาสสำคัญ”

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม คิดว่าควรทำเป็น พ.ร.บ.ออกมาเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และจะได้แสดงให้สังคมได้เห็นว่าประเทศไทยได้ให้ความสำคัญโครงสร้างพื้นฐานอะไรบ้าง ที่สำคัญ ถ้าโครงการเหล่านี้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.จะทำให้โครงการต่างๆ มีความต่อเนื่องแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ตาม เพียงแต่ไปจัดการไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตระหว่างที่มีการดำเนินการโครงการตลอดระยะเวลา 7 ปี

ดังนั้น เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.27 ล้านล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี คิดเฉลี่ยตกปีละประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเงินที่จำนวนไม่มาก โดยอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลก็ลงทุนในระดับนั้นอยู่แล้ว ไม่ใช่ตัวเลขสูงเกินจริง และพอรับได้ หนี้ต่อจีดีพีจะเพิ่มขึ้นเพียง 50% ต่อจีดีพีเท่านั้น จากเดิม 40% ก็อยู่ในระดับที่รับได้เช่นกัน ไม่ใช่ระดับสูงเกินไปจนกระทั่งเป็นปัญหากับประเทศ แต่เวลานี้เราจะต้องสร้างความชัดเจน และคัดเลือกโครงการไม่ให้มีความอีเหละเขละขละ ถ้าทำตรงนี้ได้เงิน 3 แสนล้านบาทต่อปีก็จะเป็นสิ่งที่ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น