xs
xsm
sm
md
lg

"โกร่ง" แนะวายุภักษ์ซื้อหุ้น ปตท. 2% ปลดแอก รสก. ลดภาระหนี้สาธารณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"วีรพงษ์" ผ่าทางตัน สมการ ศก.ไทย แนะกองทุน "วายุภักษ์" ถือหุ้น 2 รสก.ใหญ่ แทนคลัง ปลดชนวน "หนี้สาธารณะ" ชี้สัดส่วนที่เหมาะสม 2% ถือหุ้น ปตท. เพื่อหลุดจากความเป็น รสก. ด้านเลขาฯ อังค์ถัด หนุน "บีโอไอ" เร่งสร้างเชื่อมั่น ยกระดับประเทศสู่ Niche Market พร้อมชู 5 ธุรกิจอนาคต

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "การฟื้นฟูและหนทางข้างหน้าของประเทศไทย" ในงาน CEO Forum at BOI Fair โดยระบุถึงแนวทางในการหาเงินทุนเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการพัฒนาระบบราง การลงทุนในโครงสร้าพื้นฐานว่า การระดมทุนจะเน้นจากในประเทศเป็นหลัก ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากในระยะ 15 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอดและมีทุนสำรองค่อนข้างสูงมาก

สำหรับแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการในขณะนี้ คือ การโอนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินกลับไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับภาระ และอีกส่วนหนึ่งที่สามารถดำเนินการได้ก็คือ การบริหารจัดการหุ้นของรัฐวิสาหกิจโดยผ่านกองทุนวายุภักษ์แทนกระทรวงการคลัง ทั้งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้สาธารณะของประเทศ

"ตอนนี้ ปตท.มีหนี้ 700,000 ล้านบาท ถ้ากองทุนวายุภักษ์เข้าซื้อหุ้น ปตท. จำนวน 2% ก็จะทำให้ ปตท. หลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ และทำให้หนี้สาธารณะไม่เพิ่ม"

ทั้งนี้ ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพจะใช้รูปแบบของ single command unit โดยนายกรัฐมนตรี ลงมาดูแลเอง เพื่อแก้ปัญหาการจัดการที่ไม่เป็นเอกภาพของการทำงานอิงการเมืองที่ไม่ได้หวังผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นสำคัญ ยกตัวอย่าง แค่การเปิดประตูระบายน้ำ 10 ซม.ต้องใช้เวลาตัดสินใจ 2 วัน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่เคยประกาศไว้ คือ มีเวลาที่เหลืออยู่อีก 6-7 เดือนก่อนเข้าสู่ฤดูฝน แม้จะมีน้ำมากเท่าปีที่แล้ว แต่น้ำจะต้องไม่ท่วมซ้ำอีก แนวทางหลักคือการระบายน้ำ โดยพื้นที่ตอนบนของประเทศจะเป็นที่พักน้ำ และตอนล่างงจากปากน้ำโพลงมาจะเป็นที่ระบายน้ำ ซึ่งจะมีการสร้างทางระบายน้ำสายใหม่เป็น Water Channel หรือ Floodway ก็ตาม เพื่อจะแบ่งน้ำเป็น 3 ส่วนเพื่อระบายลงสู่ทะเล

"เราจะถือโอกาสนี้หลังจากวิกฤตไม่ใช่แค่การซ่อมแซมเท่านั้นแต่จะต้องยกระดับการพัฒนาประเทศในทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข การศึกษา ไปพร้อมๆ กันเพื่อให้ภูมิภาคอาเซียน เป็นคู่ค้าที่สำคัญของจีน และอินเดีย โดยมีไทยเป็นประเทศหลัก"

ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งหวังที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาของเอเชีย ซึ่งจะเป็นหัวเรื่องใหญ่ในการพัฒนาเศรษฐกิจในศตวรรษหน้า เพราะเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปจะต้องตกต่ำลงอย่างแน่นอน เอเชียจะเป็นตัวจักรสำคัญของเศรษฐกิจ ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำคือจะอย่เฉยไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องเร่งดำเนินการในระยะ 5-6 ปีที่จะถึงนี้

ด้านนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) มองว่า ตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) จะขยายตัว 1.5-1.6% โดยธุรกิจ 5 ด้านที่เป็นอนาคตของประเทศไทย ได้แก่ ด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร เนื่องจากเป็นประเด็นปัญหาถาวรของโลก แต่จะต้องเพิ่มในเรื่องผลิตภาพให้เพียงพอ และการสร้างมูลค่าเพิ่ม, ธุรกิจสีเขียว เพื่อลดมลภาวะและดูแลสิ่งแวดล้อม, พลังงานทดแทน, ความปลอดภัยด้านสุขอนามัยและการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการลงทุนใหม่ โดยผ่านระบบเฟรนไชส์

สำหรับสิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทำอยู่ในภาพรวม ค่อนข้างดีแล้ว แต่ขณะนี้ควรจะเน้นการสร้างความเชื่อมั่น และขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุน ประเทศไทยจะไปหวังกำไรที่เกิดจากแรงานขั้นต่ำคงไม่ได้ เพราะต้องยกระดับของประเทศ เข้าไปสู่ Niche Market

นายศุภชัย กล่าวว่า สิ่งสำคัญ คือรัฐบาลจะต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องการยกระดับทักษะ ความรู้ของแรงงาน รวมไปถึงการพัฒนาในระบบโลจิสติกส์ เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะจะไปหวังสิ่งที่มีอยู่เดิมไม่ได้ จะต้องเร่งสร้างอะไรใหม่ๆ เข้ามา

ด้านสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการ อาเซียน กล่าวว่า การที่ไทยจัดเวทีครั้งนี้ขึ้นมาไม่ใช่แค่การเรียกความเชื่อมั่นแต่เป็นการสะท้อนให้ประชาคมโลกเห็นว่าไทยสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ และแนวทางการพัฒนาในอนาคตของไทย อยากฝากให้มุ่งไปทั้งภาพรวมของอาเซียนไม่ควรจะดึงมาเฉพาะไทยประเทศเดียว

ทั้งนี้ อาเซียนควรมีการหารือร่วมกันเพื่อกำหนดกฎกติกาให้สอดคล้องกัน เนื่องจากหากดูสัดส่วนของมูลค่าการลงทุนในภูมิภาคในช่วงปี 52-53 เพิ่มขึ้นกว่า 100% โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 8.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น