ปธ.ทีดีอาร์ไอ ค้านรัฐออก พ.ร.ก.โอนหนี้ แก้ปัญหากองทุนฟื้นฟูฯ กระทบความเป็นอิสระการทำงานของ ธปท.และอาจขัด พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย “พรายพล” อัดซ้ำ การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯไม่ได้ลดภาระแท้จริง ซ้ำเป็นการผลักภาระให้ ปชช.แนะให้มีการจัดสรรเงินจากทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่ง ที่สามารถนำมาชำระหนี้ได้โดยไม่แตะเงินของหลวงตา
นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาทางเศรษฐกิจปี 2555 ในหัวข้อ “ฤๅประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย” โดยระบุว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลเตรียมออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยโอนหนี้ทั้งหมดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับผิดชอบ หากเป็นไปได้อยากให้เปลี่ยนแปลงมาเป็นการออกพระราชบัญญัติแทน เพื่อเปิดโอกาสให้สังคมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล
“การออกเป็น พ.ร.ก.ถือว่ากระทบต่อความเป็นอิสระในการทำงานของแบงก์ชาติ และอาจส่งผลกระทบต่อภาคการเงินของประเทศอย่างรุนแรง”
ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า แนวทางการแก้ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ น่าจะมีวิธีอื่นที่ไม่ใช่การออก พ.ร.ก.และการที่รัฐออกเป็น พ.ร.ก.อาจขัดกับ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย
ด้าน นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า กรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านร่าง พ.ร.ก.เพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินโดยให้ ธปท.รับผิดชอบชำระเงินต้นและดอกเบี้ย มองว่า แนวทางดังกล่าวไม่ได้เป็นการตอบโจทย์การลดภาระกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินอย่างแท้จริง เพราะแนวทางการดำเนินการโดยให้ ธปท.เรียกเก็บเงินจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น ซึ่งเม็ดเงินคงไม่มากเพียงพอชำระเงินต้นแต่เป็นเพียงสามารถชำระดอกเบี้ยบางส่วนเท่านั้น
ดังนั้น การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงไม่ทำให้ภาระหนี้สาธารณะลดลงและท้ายที่สุดธนาคารพาณิชย์คงต้องผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นให้กับลูกค้า นอกจากนี้ เห็นว่า ในกฎหมายมาตรา 7(3) ที่ให้มีการโอนทรัพย์สินให้ ธปท.ดูแลเพื่อชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ถือเป็นวิธีการที่อันตรายเนื่องจากเป็นการให้อำนาจ ครม.มากเกินไป
“การออกร่างพระราชกำหนดครั้งนี้ ไม่มีแนวทางชัดเจนว่าจะนำเงินจากที่ไหนมาชำระเงินต้น 1.14 ล้านบาท ถือเป็นประเด็นสำคัญมากกว่า เพราะยังคงเป็นหนี้ของประเทศต่อไป ขณะที่ แนวทางการนำเงินสมทบที่ธนาคารพาณิชย์ส่งให้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก บวกกับการเก็บค่าธรรมเนียมจากแบงก์เพิ่มเติม ไม่เกินร้อยละ 1 นำมาจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรกองทุนฟื้นฟูฯ ก็คงได้เงินไม่มากพอที่จะนำมาชำระเงินต้นได้ และสถาบันการเงิน ก็จะผลักภาระต้นทุนนี้ให้แก่ประชาชน ด้วยการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ดังนั้น ไม่มีผลให้เงินต้นลดลงแต่อย่างใด”
นายพรายพล ยอมรับว่า ที่ผ่านมา สาเหตุที่ ธปท.ขาดทุนทางบัญชี ไม่มีเงินมาชำระหนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ เกิดจากการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน แต่เชื่อว่าในปีนี้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ธปท.จะเริ่มมีกำไรนำส่งเงินให้กระทรวงการคลังไปชำระเงินต้นได้ ขณะเดียวกัน อาจจะต้องแก้ไขกฎหมาย ธปท.เพื่อปรับวิธีการลงบันทึกบัญชีใหม่ โดยไม่ต้องคิดราคาสินทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์คทูมาร์เก็ต) ซึ่งจะช่วยให้งบการเงินของ ธปท.ไม่ขาดทุนจากการตีราคาสินทรัพย์
นายพรายพล ยังเสนอแนะให้มีการจัดสรรเงินจากทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่งที่สามารถนำมาชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ ซึ่งปัจจุบันทุนสำรอง 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากจัดสรร 20% มาดำเนินการชำระหนี้สามารถทำได้แต่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เนื่องจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นของทุกคน โดยต้องผ่านการพิจารณา และให้ประชาชนรับรู้ ซึ่งในอดีตมีการใช้เงินทุนสำรองแต่ต้องมีการกำหนดวงเงินที่จะใช้ชัดเจนและกำหนดเวลาไว้ด้วย ซึ่งหากใช้แนวทางดังกล่าวการชำระหนี้เงินกู้คงไม่ถึง 25 ปี
“เงินสำรองระหว่างประเทศเราแยกออกส่วนหนึ่งโดยไม่แตะเงินบริจาคของหลวงตาก็สามารถทำได้ ซึ่งวิธีการกำหนดเงินที่จำกัดที่จะนำมาใช้ชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ และควรออกเป็น พ.ร.บ.และให้ทุกคนมีส่วนร่วมมีการถกเถียงกันในสภาเพื่อให้ประชาชนรับรู้และเป็นไปในกรอบหลักการ”
ปัจจุบันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศใช้ในการหนุนหลังการออกพันธบัตร 10% สำรองไว้ในหนี้ต่างประเทศระยะสั้น รองรับการนำเข้าเป็นเวลา 6 เดือน รองรับเงินทุนไหลออกกรณีฉุกเฉิน ส่วนที่เหลือสามารถนำมาใช้ในการชำระหนี้ได้
นายสมเกียรติ ศิริชาติไทย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมเพื่อนำไปชำระดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูฯ ทำให้ต้นทุนของธนาคารเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าการแข่งขันของตลาดการเงิน โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ ที่ไม่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝาก ก็ทำให้ธนาคารพาณิชย์ ปรับขึ้นค่าธรรมเนียม หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้ยาก เพราะประชาชนมีทางเลือกในการใช้บริการ