xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร” เตือน พ.ร.ก.โอนหนี้ ได้ไม่คุ้มเสีย “ผู้ฝาก-กู้เงิน” เดือดร้อน กระทบความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ผู้ว่าฯ ธปท.เตือน พ.ร.ก.โอนหนี้ ได้ไม่คุ้มเสีย ชี้ส่งผลสะเทือนวงกว้าง ปชช.ทั้ง “ผู้ฝาก-กู้เงิน” เดือดร้อนแน่ ทั้งยังกระทบความเชื่อมั่นต่างชาติ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้ เพื่อช่วยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) พ.ศ..... โดยโอนหนี้เอฟไอดีเอฟให้ ธปท.รับผิดชอบเงินต้นและดอกเบี้ย 1.14 ล้านล้านบาท

กรณีดังกล่าว ผู้ว่าการ ธปท.มองว่า น่าจะมีผลไปหักล้างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินตรา และ พ.ร.บ. ธปท. ที่เกี่ยวข้องกับฐานะของธนาคารกลาง โดยเฉพาะมาตรา 7 (3) ที่ให้โอนเงิน หรือสินทรัพย์ของ ธปท. หรือเอฟไอดีเอฟ เข้าบัญชีตามมาตรา 5 ตามที่ ครม.กำหนด ซึ่งทำให้ ครม.สามารถสั่งให้ ธปท.โอนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือที่ดิน และทุกอย่างที่เป็นสินทรัพย์ได้ โดยเฉพาะคำว่าสินทรัพย์ของ ธปท.ไม่มีความชัดเจนว่าจะหมายรวมถึงทุนสำรองเงินตราด้วยหรือไม่ จึงเป็นห่วงว่า จะส่งผลกระทบความเชื่อมั่นต่อการทำงานของธนาคารกลางในสายตาต่างชาติ

“เรื่องนี้ควรต้องหารือกัน เพราะ ธปท.ก็มีกลไก มีคณะกรรมการ ธปท.ที่ทำหน้าที่พิจารณาเรื่องต่างๆ รวมทั้งยังต้องหารือกับกระทรวงการคลัง เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญของประเทศชาติ ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ไม่ควรรวบรัด ยิ่งไปออก พ.ร.ก.ซึ่งมีลักษณะเป็นกฎหมายรวบรัด โดยเฉพาะเหมือนเป็นการไปแก้ พ.ร.บ.สำคัญๆ ก็ไม่ควรทำ ธปท.จึงต้องพยายามชี้แจงผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ได้ขอหารือมายังธปท.แล้วให้รัฐบาลเข้าใจว่า แนวทางนี้อาจได้ไม่คุ้มเสีย และเราคงจะพยายามทำให้ดีที่สุด”

ส่วนกรณีการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงิน สุดท้ายจะส่งผ่านภาระไปยังผู้ฝากเงินที่อาจได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าที่ควร หรือผู้กู้เงินอาจถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยแพงกว่าที่ควรจะเป็น และอาจทำให้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ มีความสามารถในการแข่งขันลดลง ส่งผลให้การทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างเงินออมกับนักลงทุนลดประสิทธิภาพลง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงินในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น