xs
xsm
sm
md
lg

เอสเอ็มอีแบงก์ผวาหนี้เน่า ปิดรีไฟแนนซ์แบงก์อื่น-เร่งจัดระเบียบธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลังออกโรงจัดระเบียบธุรกิจ เอสเอ็มอีแบงก์ ห้ามรับรีไฟแนนซ์แบงก์อื่น หวั่นปัญหาหนี้เน่าจบไม่ลง ยอมรับที่ผ่านมา เป็นหนี้เสียตลอด

นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.คลัง ในฐานะกำกับดูแล เอสเอ็มอีแบงก์ ได้ให้นโยบายการดำเนินงานแก่ เอสเอ็มอีแบงก์ โดยกำชับว่าต้องปล่อยสินเชื่อตามกฎหมายจัดตั้งอย่างเคร่งครัด และปล่อย สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังไม่ให้รับปรับโครงสร้างหนี้ (รีไฟแนนซ์) ลูกหนี้จากสถาบันการเงินอื่น โดยเฉพาะลูกหนี้ที่มีปัญหา เพราะที่ผ่านมาพบว่าการรีไฟแนนซ์หนี้จากสถาบันการเงินอื่นจะกลายเป็นหนี้เสียทำให้เกิดความเสียหายกับธนาคารจำนวนมากและส่งผลให้เงินกองทุนต่อ สินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ต่ำกว่า 8.5 เท่า ตามมาตรฐานของสถาบันการเงินโดยปัจจุบัน BIS ของธนาคารอยู่ที่ 7 เท่า

นอกจากนี้ ยังกำชับให้ต้องลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการทำตัวเลขทางบัญชี เพราะการลด NPL ของธนาคารจาก 50% มาอยู่ที่ประมาณ 18% ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากการที่ธนาคารปล่อยกู้เพิ่ม เพื่อให้นำเงินมาชำระหนี้ตัวเองจะได้หลุดจากการเป็น NPL ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง และทำให้กลับมาเป็นหนี้เสียอีกในอนาคต

ทั้งนี้ รมช.คลัง ยังให้นโยบายเอสเอ็มอีด้านอื่นๆ เช่น การหาเงินเพิ่มทุนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้เงินกองทุน การหาแหล่งเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำและด้านการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารและพนักงานต้องมีความโปร่งใส ตำแหน่งไหนไม่เหมาะสมต้องเปลี่ยนแปลงทันที รวมไปถึงให้เอสเอ็มอีแบงก์พัฒนาระบบไอที ซึ่งธนาคารยังไม่มีระบบคอร์แบงกิ้ง และให้มีการจ้างผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก เข้ามาตรวจสอบการทำบัญชีของธนาคาร เสริมจากการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้มาตรฐานบัญชีของธนาคารได้มาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“การดำเนินงานของเอสเอ็มอีแบงก์ช่วง 9 เดือน ของปี 2554 มีกำไร 600 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย รวมถึง การเพิ่มประสิทธิภาพในการปล่อยสินเชื่อ ช่วยลดความเสี่ยงที่เกิด NPL ทำให้ผลงานอยู่ในเกณฑ์ดี”

นอกจากนี้ เอสเอ็มอีแบงก์ได้มีการปรับคณะกรรมการใหม่ทั้งชุด โดยส่วนหนึ่งมาจากผู้แทนกระทรวงคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรมฝ่ายละครึ่ง โดยผู้แทนคลังเป็นประธานกรรมการ ประธานกรรมการธรรมาภิบาลบริษัท ประธานกรรมการตรวจสอบ และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง ขณะที่ตัวแทนจากกระทรวง อุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการบริหาร ประธานกรรมการกิจการ สัมพันธ์ ประธานกรรมการสรรหาและค่าตอบแทน และประธานกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น