สคร.ห่วงหนี้เน่าถ่วงเอสเอ็มอีแบงก์ ชี้ตัวเลขลดลงเพราะฐานสินเชื่อขยายอย่างสูง ขณะที่การแก้ปัญหายังไม่คืบหน้า
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ตัวเลขจะมีการปรับลดลงมากจากในอดี อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงจำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลง เกิดจากฐานสินเชื่อที่ขยายตัวมากขึ้น แต่ในส่วนของการบริหารจัดการเพื่อให้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงแทบจะไม่เกิดผลขึ้นเลย
“หนี้เอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีแบงก์มีการปรับลดลงเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวของสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา แต่หากพิจารณาจากตัวเลขยอดหนี้เอ็นพีแอลยังอยู่ในระดับเท่าเดิม ซึ่งเรามีความเป็นห่วงในจุดนี้ เพราะที่ผ่านมา เอสเอ็มอีแบงก์เร่งในการดำเนินงานเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาหนี้เสียกลับไม่เกิดขึ้น การที่หนี้เอ็นพีแอลดูเหมือนว่าลดน้อยลงจากเดิมแล้ว ก็เพราะเกิดจากอัตราการขยายของสินเชื่ออย่างมหาศาลในช่วงที่ผ่านมา” ผอ.สคร. กล่าว
ทั้งนี้ สคร.ได้สั่งให้เอสเอ็มอีแบงก์ดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขปัญหาหนี้เอ็นพีแอลของธนาคาร เพื่อส่งมาให้กระทรวงการคลังพิจารณาในรายละเอียดแล้ว เนื่องจากเห็นว่าสิ่งสำคัญคือนอกจากจะมีการปล่อยสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาลอย่างดีแล้ว จะต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องมีแผนในการจัดการหนี้เอ็นพีแอลที่มีอยู่เดิม รวมถึงจะต้องป้องกันหนี้เสียใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
ด้านนายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารมีหนี้เสียอยู่ที่ 17,000 ล้านบาท หรือ 19% หากเทียบกับปีที่ผ่านมาถือว่าลดลงไปมาก โดยเมื่อ ปี 51 เอ็นพีแอลของธนาคารเคยสูงถึง 50% หรือ 21,656 ล้านบาทมาแล้ว ซึ่งถือว่าลดลงไปมากแล้ว จึงไม่น่าเป็นกังวล
ทั้งนี้ ยอดปล่อยสินเชื่อของเอสเอ็มอีแบงก์ ระยะ 6 เดือนของปีนี้ (2554) ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนมิถุนายน มียอดสินเชื่อใหม่ประมาณ 9,000 ล้านบาท รวมสินเชื่อคงค้างทั้งหมดกว่า 90,000 ล้านบาท ถือเป็นการเติบโตตามเป้า เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการให้ความเชื่อถือเอสเอ็มอีแบงก์อย่างมาก ในฐานะสถาบันการเงินของภาครัฐที่มีความมั่นคง อีกทั้ง อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ และให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาควบคู่ไปด้วย โดยกลุ่มพลังงานทดแทนมีอัตราการเติบโตของสินเชื่ออย่างสูง ซึ่งจากแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อดังกล่าว มั่นใจว่า ถึงสิ้นปีนี้ ยอดสินเชื่อใหม่จะเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท ทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างถึง 100,000 ล้านบาทตามเป้าที่วางไว้