xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ศก.วุฒิฯ เตือนรัฐอย่าก่อปัญหาหนี้สาธารณะเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปธ.กมธ.เศรษฐกิจ วุฒิฯ เตือนรัฐอย่าก่อปัญหาหนี้สาธารณะเพิ่มในอนาคต ชี้แนวทางดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมให้คนที่มีความสามารถชำระหนี้พากันไม่จ่ายหนี้ ส่งผลร้ายต่อความมั่นคงของสถาบันการเงิน

วันนี้ (14 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ส.ว.ขอนแก่น ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถึงกรณีที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารรัฐอีก 3 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และ ธอส. จะปรับโครงสร้างหนี้เน่าเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองว่าจะทำให้เสียวินัยการใช้เงิน และก่อภาระผูกพันแก่รัฐบาลใหม่ในอนาคต เพราะจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น

นายประเสริฐกล่าวต่อว่า การยกหนี้ให้สมาชิกกองทุนฯ ทุกคน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีไม่น้อยกว่า 80,000 คนที่เป็นหนี้เน่าที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 31 ธ.ค.2552 เฉลี่ยรายละไม่เกิน 2.5 ล้านบาท สามารถเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ได้โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรอง โดยเปิดให้เกษตรกรชำระหนี้ 50 เปอร์เซ็นต์แรก ภายใน 15 ปี แล้วแขวนเงินต้นอีก 50 เปอร์เซ็นต์ และดอกเบี้ยไว้ก่อน ถ้าสามารถชำระหนี้ได้ภายในเวลาที่กำหนดก็จะยกหนี้ที่เหลือและดอกเบี้ยให้ รวมทั้งยังตัดหนี้สูญ กรณีลูกหนี้เสียชีวิตหรือพิการ

“แนวทางการแก้ไขเช่นนี้อาจทำให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต เพราะจะเป็นการส่งเสริมให้คนที่มีความสามารถชำระหนี้พากันไม่จ่ายหนี้ ส่งผลร้ายต่อความมั่นคงของสถาบันการเงิน เกิดพฤติกรรมเบี้ยวหนี้ ทำให้เสียวินัยการชำระเงิน นอกจากนี้ เพดานวงเงินช่วยลูกหนี้ที่เป็นหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ก็ไม่ได้ช่วยรายย่อย เพราะคนที่จะเป็นหนี้ถึง 2.5 ล้านบาทได้ต้องมีรายได้เพียงพอที่จะใช้หนี้และมีหลักทรัพย์ค้ำประกันคุ้มมูลหนี้ การแก้ปัญหาดังกล่าวคงหนีไม่พ้นเงินที่มาจากภาษีประชาชนทั้งประเทศ ทำให้รัฐบาลใหม่ต้องรับภาระรายจ่ายผูกพันยาวนานถึง 15 ปี และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะมีแนวโน้มสูงเกินร้อยละ 50” นายประเสริฐกล่าว และว่า การแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ต้องไม่ส่งผลเสียต่อวัฒนธรรมการชำระหนี้ แต่ควรหาทางเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ทลายอำนาจผูกขาดของพ่อค้าคนกลาง ปรับปรุงผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ส่งเสริมการประกันพืชผลกรณีฝนแล้ง น้ำท่วม และสร้างนิสัยรู้จักการเก็บออม รวมถึงลดพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบผิดๆ ทั้งนี้ หากจะยกหนี้ให้จริงก็ควรยกให้ในกรณีที่หนี้นั้นเกิดจากความผิดพลาดของนโยบายของรัฐ ไม่ใช่ยกให้เพื่อแลกกับฐานเสียงสนับสนุน เพราะการเมืองไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า แต่ธนาคารของรัฐยังต้องอยู่คู่ระบบการเงินไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น