xs
xsm
sm
md
lg

ดบ.ขยับขึ้น 0.25% ตามคาด หุ้นไทยปิดลบ 10.85 จุด ผวามูดีส์หั่นเครดิตญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บอร์ด กนง.มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 ปรับขึ้นอัตรา ดบ.นโยบายอีก 0.25% มาที่ระดับ 3.50% เพื่อดูแลเงินเฟ้อ เป็นตามที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ ส่วนเสียงข้างน้อย อยากให้คง ดบ.เพราะห่วงความเสี่ยง ผลกระทบ ศก.โลก ขณะที่ดัชนีหุ้นภาคบ่ายร่วงกว่า 15 จุด หลัง มูดีส์ หั่นเครดิตญี่ปุ่น ด้านราคาทองปรับขึ้นอีก 50 บาท ทองแท่งบาทละ 26,200 บาท ล่าสุด หุ้นไทยปิดลบ 10.85 จุด



นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (บอร์ด กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 3.25% เป็น 3.5% โดยให้น้ำหนักเรื่องความเสี่ยงเงินเฟ้อ ในอนาคตที่ยังสูงขึ้น ขณะที่ กนง.อีก 2 เสียง มีมติให้คงดอกเบี้ย เนื่องจากเป็นห่วงเศรษฐกิจโลกจะส่งผลต่อไทย

ขณะที่เสียงส่วนน้อย เห็นว่า ควรจะคงดอกเบี้ยไว้ก่อน เนื่องจาก กนง.ประเมินว่า แม้ความเสี่ยงของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะสูงขึ้นจากการประชุมครั้งที่แล้ว เนื่องจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังมีแรงขับเคลื่อนให้ขยายตัวได้ และยังได้นำนโยบายที่รัฐบาลใหม่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และค่าจ้างผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมาพิจารณาด้วย

ขณะที่ความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อในอนาคตก็สูงขึ้นเช่นกัน ประกอบกับระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ กนง.จึงเห็นว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าใกล้ระดับสมดุลมากขึ้น เพื่อดูแลแรงกดดันเงินเฟ้อในอนาคตยังเป็นนโยบายที่เหมาะสม

นายไพบูลย์ กล่าวว่า กนง.ยังจะให้น้ำหนักกับการดูแลอัตราเงินเฟ้อต่อไป เพราะแม้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกเริ่มชะลอลง แต่อุปสงค์ในประเทศที่เติบโตดีและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังเอื้อให้แรงกดดันด้านราคามีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนเร่งตัวขึ้นด้วย

“เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีระดับหนึ่ง และจะยังขยายตัวดีต่อเนื่องในอนาคต แต่ถ้ามีการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้าของประชาชนจะสูงขึ้น ทำให้เกิดการส่งผ่านราคาจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคเป็นแรงกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวอีกด้าน แบงก์ชาติยังกังวลอัตราความเสี่ยงของเงินเฟ้อในอนาคต ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เน้นการใช้จ่าย กนง.เห็นทิศทางเดียวกันว่า เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวดีพอสมควรแล้ว หากจะขยายตัวมากกว่านี้แรงกดดันเงินเฟ้อจะสูงขึ้น”

สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักมีความเสี่ยงมากขึ้น จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องและอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาด เศรษฐกิจของประเทศหลักในยุโรปเริ่มขยายตัวชะลอลงบ้าง แต่คาดว่า เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียจะสามารถรองรับผลกระทบจากการชะลอตัวดังกล่าวได้ในระดับหนึ่งจากแรงขับเคลื่อนของอุปสงค์ในประเทศและภาคการส่งออกที่มีความเข้มแข็งและปรับตัวได้ดี นอกจากนี้ ฐานะด้านการเงินการคลังก้ยังอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นแศรษฐกิจได้หากจำเป็น

กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ชะลอลงจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยบ้าง โดยน่าจะบรรเทาลงจากการค้าภายในภูมิภาคเอเชียและการกระจายการส่งออกไปตลาดใหม่ๆ มากขึ้น ส่วนการบริโภคและการลงทุนในประเทศคาดว่าจะยังเติบโตได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาวะการจ้างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้น ความต้องการสินเชื่อที่ยังขยายตัวได้ดี รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในระยะต่อไป

ส่วนผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาระยะหนึ่ง พบว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายมีทั้งแรงผลักและแรงดึง โดยแรงดึงคือเศรษฐกิจไทยและเอเชียที่ขยายตัวดีกว่ายุโรปและสหรัฐ ขณะที่แรงผลักคือการชะลอตัวของประเทศอุตสาหกรรมหลัก แต่ก็ทำให้นักลงทุนแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่าจึงเข้ามาในเอเชียและไทย

“อัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นในการดึงดูดเงินทุน เพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยคือตัวแปรสำคัญในการดูแลเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงชึ้นมาก ดังนั้น ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายเช้าประเทศจะเป็นเพียงปัจจัยเรื่องหนึ่งเท่านั้นที่ กนง.จะพิจารณา ซึ่งจะดูผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนว่าเป็นอย่างไร นอกจากผลกระทบที่เกิดจากเงินเฟ้อ” นายไพบูลย๋ กล่าวสรุป

ด้านภาวะตลาดหุ้นไทยภาคบ่าย ดัชนีร่วงกว่า 10.08 จุด เมื่อเวลา 14.50 น.เป็นไปตามทิศทางตลาดภูมิภาคที่ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงเช่นกัน แม้ว่าจะมีข่าว กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาที่ 3.25% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้แล้ว โดยเมื่อเวลา 15.50 น.ดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,042.28 จุด ลดลง 15.00 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -1.42% มูลค่าการซื้อขาย 24,369.48 ล้านบาท คาด กังวล มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางธุรกิจและเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อของพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นลงถึง 1 อันดับ จากเดิมที่อยู่ระดับ “เอเอ2 (Aa2)” ลงไปสู่ระดับ “เอเอ3 (Aa3)”

ล่าสุด ดัชนีหุ้นไทยปิดตลาดที่ระดับ 1,046.43 จุด ลดลง 10.85 จุด หรือเปลี่ยนแปลง 1.03% มูลค่าการซื้อขาย 33,049ล้านบาท


ขณะที่ราคาทองคำ เมื่อเวลา 14.48 น.ปรับเพิ่มขึ้น 50 บาท จากประกาศครั้งก่อน (13.00 น.) โดยทองคำแท่ง รับซื้อบาทละ 26,100.00 ขายบาทละ 26,200.00 ราคาทองรูปพรรณ รับซื้อบาทละ 25,726.52 ขายบาทละ 26,600.00 ซึ่งเป็นการปรับครั้งที่ 3 ของวันนี้ (ปรับขึ้น 2 ครั้ง และปรับลง 1 ครั้ง) และช่วงเปิดตลาดปรับลง 400 บาท เมื่อเทียบกับราคาปิดวันก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น