ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ฯ ขอรัฐบาลใหม่ตั้งผู้มีความรู้ทางการค้า และเข้าใจภาคธุรกิจอย่างแท้จริงเป็น รมต.พาณิชย์คนใหม่ หลังธุรกิจภาคเกษตรโดยเฉพาะการส่งออกเนื้อไก่จากไทยไม่สามารถขยายตลาดส่งออกเพิ่มได้ทั้งที่ศักยภาพยังมีสูง เหตุเพราะขาดผู้มีความสามารถในการเจรจาการค้า ที่สำคัญรัฐบาลใหม่ต้องสร้างความมั่นใจต่อสถาบันการเงินเพื่อกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
นางฉวีวรรณ คำพา ประธานกรรมการ บริษัท ฉวีวรรณฟาร์ม จำกัด ในฐานะนายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยถึงการขยายตัวของตลาดส่งออกเนื้อไก่ไทยไปยังต่างประเทศว่ายังคงมีศักยภาพสูง โดยในปี 2554 คาดว่าตัวเลขการส่งออกเนื้อไก่จากไทยไปยังประเทศคู่ค้าหลักอย่างอังกฤษ และประเทศแถบยุโรปจะมีไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นล้านบาท
ขณะที่การบริโภคเนื้อไก่ในประเทศมีมูลค่าสูงเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าตลอดทั้งปีมูลค่าการบริโภคเนื้อไก่ทั้งในและต่างประเทศจะมีไม่น้อยกว่าแสนล้านบาทอย่างแน่นอน ทั้งนี้มูลค่าการค้าเฉพาะไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 เติบโตจากปีก่อนไม่น้อยกว่า 7%
“จริงๆ แล้วตลาดส่งออกเนื้อไก่ของไทยยังไปได้อีกไกล แต่ปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องเจอในขณะนี้ก็คือปัญหาเรื่องสนธิสัญญาการค้า ซึ่งรัฐบาลควรจะเปิดตลาดส่งออกให้มากกว่านี้”
ทั้งนี้ เพราะศักยภาพของผู้ประกอบการยังสามารถขยายกำลังการผลิตเพื่อป้อนความต้องการของตลาดได้อีกมาก แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยขาดผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในการเจรจาทางการค้าเพื่อสร้างความเข้าใจ และความมั่นใจให้กับคู่ค้า ดังนั้น ในส่วนของรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะวางตัวบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ เราก็ขอให้มีการพิจารณาตัวบุคคลที่จะเข้ามานั่งตำแหน่ง รมต.พาณิชย์ ว่าจะต้องเป็นคนที่ค้าขายเก่งทั้งในและต่างประเทศ และต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เพื่อจะช่วยผู้ประกอบการในการเจรจาทางการค้าสำหรับการขยายตลาดส่งออก
นอกจากนั้น ในส่วนผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งจะต้องทำงานควบคู่กับกระทรวงพาณิชย์ในการพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรภายในประเทศ เพื่อการส่งออก ก็จะต้องเป็นคนที่มีความเข้าใจในภาคการผลิตเพื่อการส่งออกอย่างแท้จริงเช่นกัน
ที่สำคัญรัฐบาลใหม่จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินว่าจะสามารถบริหารนโยบายต่างๆ ที่ใช้ในการหาเสียงได้จริง เพื่อผลักดันให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในประเทศได้มากยิ่งขึ้น หลังจากในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินไม่เชื่อมั่นในศักยภาพทางการเมืองไทย จึงเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อจนผู้ประกอบการไม่สามารถขยายกำลังการผลิตของตนได้
นางฉวีวรรณยังเผยถึงนโยบายการขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทของรัฐบาล หลังภาคธุรกิจรายใหญ่บางส่วนออกมาขานรับว่าทำได้จริง แต่รัฐบาลจะต้องหันมามองผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดว่า สามารถดำเนินการเพื่อตอบสนองนโยบายได้หรือไม่ โดยต้องกำหนดมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการเหล่านี้ด้วย
ในความเชื่อของตนแล้ว เห็นว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการควรทำ เพราะปัจจุบันราคาสินค้าและภาวะเงินเฟ้อทำให้รายได้ของผู้ใช้แรงงานไม่พอต่อค่าใช้จ่าย แต่รัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแลผู้ประกอบการให้สามารถอยู่รอดได้ด้วยเช่นกัน
“ในส่วนของภาคอุตสหากรรมส่งออกเนื้อไก่ เราจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันมานานแล้ว เพราะเราต้องใช้แรงงานฝีมือที่มีทักษะในการทำงาน ซึ่งรัฐบาลจะต้องหันมามองผู้ประกอบการายย่อยให้มาก โดยเฉพาะในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย จะต้องดูแลด้วยว่าไม่ให้ขึ้นมากจนส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ”
ขณะที่นโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการลดภาษี มันจะเห็นผลในช่วงป้ายปี แต่ผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานทุกเดือน จึงอยากฝากเตือนรัฐบาลว่า เมื่อกำหนดนโยบายส่วนรวมออกมาแล้ว ภาคเอกชนก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามแต่รัฐบาลก็อย่าลืมที่จะหันมาดูแลความเป็นอยู่ของผู้ประกอบการ รวมทั้งอย่าลืมนโยบายต่างๆ ที่ใช้หาเสียงซึ่งต้องทำให้ได้ เพราะคาดว่าคงมีหลายส่วนจับตามองอยู่