xs
xsm
sm
md
lg

เตือน ศก.สหรัฐฯ ทรุด-กู่ไม่กลับ จี้ รบ.ปู รับมือด่วน! ชี้ หาก "มูดีส์-ฟิทช์" ขย่มซ้ำ ศก.โลก บรรลัยแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นัก ศศ. กังวลปัญหา ศก.สหรัฐฯ ทรุด-กู่ไม่กลับ ฝาก รบ.ปู เร่งเตรียมรับมือด่วน เพื่อไม่ให้ลุกลาม แนะจับตาผลกระทบ-มหันตภัยโลก รอบใหม่ หลัง "เอสแอนด์พี" หั่นเครดิตบอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี "ธนวรรธน์" ชี้ หาก "มูดีส์-ฟิทช์" ขย่มซ้ำ ศก.โลก บรรลัยแน่

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า จากกรณี บริษัท สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารทางการเงินระยะยาวของสหรัฐอเมริกา จากระดับ (AAA) ลงมาเหลือ (AA+) นับเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่สหรัฐถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินจาก S&P จากอันดับ AAA มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484

เหตุการณ์ดังกล่าวนับว่ามีความน่าเป็นห่วงมาก เพราะจะทำให้พันธบัตรของสหรัฐฯ ขาดความน่าเชื่อถือ เกิดการเทขายพันธบัตร เมื่อความต้องการลดลง ย่อมทำให้การออกพันธบัตรสหรัฐฯ ต้องให้อัตราดอกเบี้ยสูง ส่งผลให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกปรับสูงมากขึ้นกว่าเดิมอีก เพราะปริมาณพันธบัตรสหรัฐฯ วงเงิน 14.3 ล้านดอลลาร์ สัดส่วนร้อยละ 46-47 กระจายอยู่นอกสหรัฐฯ ที่ผ่านมาเผชิญกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูง ต้องขึ้นดอกเบี้ยควบคุม กลับทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นไปอีก ทำให้ต้นทุนด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย และยังทำให้ต้นทุนการออกหุ้นกู้ของเอกชนสหรัฐฯ สูงตามไปด้วย ผลพวงจากปัญหาดังกล่าว เนื่องจากสหรัฐฯ ใช้มาตรการผิดพลาดในการผลิตเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ออกสู่ระบบ จากปัญหาหนี้เสียภาคอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพร์ม)

“ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ “ยิ่งลักษณ์ 1” เร่งเตรียมรับมือปัญหาดังกล่าวที่มีแนวโน้มหนักมาก เหมือนกับพายุหรือไฟไหม้ที่เกิดขึ้นนอกบ้าน จะทำอย่างไรไม่ให้ลุกลามมายังบ้านเรา หรือให้มีปัญหาน้อยมาก หากสร้างกำแพงกันให้ดี เพราะการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจขณะนี้มีความสำคัญมาก รัฐบาลอย่าเพิ่งออกนโยบายประชานิยมตามที่หาเสียงไว้ขณะนี้ เพราะเรื่องเศรษฐกิจโลกขณะนี้จำเป็นมาก เมื่อเวลาเหมาะสมจึงค่อยนำออกมาช่วยเหลือ”

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์อินเวสเตอร์เซอร์วิส และฟิทช์ เรทติ้งส์ ลดอันดับความน่าเชื่อถือลงตามไปด้วย จะยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงมาก สหรัฐฯ ต้องมีต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปฟื้นตัวได้ช้าไปอีก เพราะเมื่อความเชื่อเศรษฐกิจสหรัฐลดลง ประชาชนจะหยุดการใช้จ่าย ชะลอการลงทุน จนกระทบต่อการส่งออกของไทยและการท่องเที่ยวจากยุโรป เหตุการณ์ดังกล่าวนับว่ามีความรุนแรงมาก หากเตรียมมาตรการรองรับไม่ดี โดยต้องติดตามดูว่า การประชุมออกมาตรการมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจในวันที่ 9 สิงหาคม 2554 ของสหรัฐฯ จะมีแนวทางออกมาอย่างไรบ้าง

“รัฐบาลใหม่ควรชะลอมาตรการซึ่งกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ หรือการปรับขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน ควรหาทางเพิ่มเงินออกสู่ระบบด้วยการอัดฉีดเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านเพิ่มเติม เพราะเงินออกสู่ระบบโดยตรงในการบริโภค การลงทุนในท้องถิ่น การเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน การระวังค่าเงินบาทจะแข็งค่าอย่างรวดเร็ว เพราะแนวโน้มสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนลงอย่างมาก จึงรู้สึกเป็นห่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมาก” นายธนวรรธน์ กล่าวสรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น