xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยฯ ใบโพธิ์ มองวิกฤต ศก.ของสหรัฐฯ ยังไม่พ้นเสี่ยง ดอลลาร์ยังอ่อนแอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยฯ ธ.ไทยพาณิชย์ มองวิกฤต ศก.ของสหรัฐฯ ยังเสี่ยง อาจถูกสถาบันจัดอันดับเครดิต หั่นเรทติ้ง แนวโน้ม ศก.ชะลอตัว กดดัน “ดอลลาร์” อ่อนค่าลงอีก แม้รัฐสภาผ่าน กม.เพิ่มเพดานหนี้

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) รายงานว่า รัฐสภาสหรัฐฯ ลงมติผ่านร่างกฎหมายเพื่อปรับขึ้นเพดานหนี้สาธารณะอีกประมาณ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปรับลดการขาดดุลการคลังลงรวมประมาณ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดช่วง 10 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ น่าจะหมดไป หลังจากรัฐสภา (สภาล่าง) มีมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ขั้นตอนที่เหลือคือการลงคะแนนโดยวุฒิสภาก่อนส่งไปให้ประธานาธิบดีลงนามประกาศใช้ต่อไป ซึ่งการปรับขึ้นเพดานหนี้ดังกล่าวคาดว่าจะทำให้สหรัฐฯ สามารถกู้เงินมาใช้ได้อย่างเพียงพอไปจนถึงปี 2013

กรณีดังกล่าว EIC มองว่า ยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับการลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สหรัฐฯ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard and Poor's (S&P) ยังคงอยู่ระหว่างการทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้ S&P ระบุว่ามีโอกาสถึง 50:50 ที่จะมีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ โดย S&P มองว่า สหรัฐฯ อาจต้องลดการขาดดุลการคลังลงถึงราว 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถึงจะเพียงพอต่อการรักษาเสถียรภาพการคลัง ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าตัวเลข 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในร่างกฎหมายที่กำลังพิจารณาในรัฐสภาสหรัฐฯ ในขณะนี้

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวจากการรัดเข็มขัดเร็วเกินไป การใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ งบประมาณประจำปีของรัฐบาลสหรัฐฯ (เกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) คิดเป็นกว่า 25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) สหรัฐฯ

การรัดเข็มขัดการใช้จ่าย 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ตลอด 10 ปีข้างหน้า หรือเฉลี่ย 2-3 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี นับว่าไม่น้อย อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังอ่อนแอประสบปัญหาได้ เห็นได้จากสองไตรมาสแรกของปี 2011 ที่ตัวเลขจีดีพีของสหรัฐฯ ขยายตัวเพียง 0.4% และ 1.3% ตามลำดับ (เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า - QOQ SAAR) นับว่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวซึ่งอยู่ที่ราว 3% QOQ SAAR ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวและกระทบต่อการเติบโตของ GDP ถึง -1.23 percentage point (pp) และ -0.23 pp ในสองไตรมาสแรกของปี 2011 ตามลำดับ

การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ หากเกิดขึ้น อาจมีผลให้ตลาดผันผวนในระยะสั้น แต่ในระยะยาวผลกระทบอาจไม่มากนัก สำนักวิจัยต่างประเทศประเมินถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในระยะสั้นได้แก่ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้น รวมไปถึงผลกระทบทางลบต่อภาคการเงินสหรัฐฯ โดยเฉพาะบริษัทรับประกันความเสี่ยง (AAA-rated insurer)

อย่างไรก็ตาม มุมมองของผลกระทบในระยะยาวน่าจะไม่มากนัก และไม่น่าจะเกิดการเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ เพื่อไปถือสินทรัพย์อย่างอื่นๆ เนื่องจากพันธบัตรสหรัฐฯ จะยังคงสถานะความเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ดอลลาร์สหรัฐฯ จะยังคงทำหน้าที่เป็น reserve currency สำหรับธนาคารกลางต่างๆ และใช้ในการค้าขายระหว่างประเทศ ในขณะที่ไม่มีตลาดสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่ หรือน่าสนใจพอจะมาแทนที่พันธบัตรสหรัฐฯได้ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรยูโรที่กำลังมีปัญหาหนี้สาธารณะ พันธบัตรจีนที่ตลาดยังมีขนาดไม่ใหญ่พอ หรือพันธบัตรญี่ปุ่นที่จ่ายดอกเบี้ยต่ำและไม่ได้มีฐานะการคลังที่ดีไปกว่าสหรัฐฯ

มองว่า นโยบายการเงินของธนาคารกลาง (เฟด) น่าจะต้องผ่อนคลายต่อไปอีกนาน ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น จีดีพี การจ้างงาน การผลิตอุตสาหกรรม รวมไปถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังคงมีปัญหาและจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ซึ่งเมื่อรัฐบาลถูกกำหนดให้รัดเข็มขัดก็น่าจะมีความจำเป็นที่ธนาคารกลางต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไปอีก ดังนั้น สำนักวิจัยในต่างประเทศจึงเริ่มมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อาจไม่ปรับขึ้นเลยไปจนปลายปี 2012 รวมถึงมีความเสี่ยงที่ Fed อาจต้องนำมาตรการด้านสภาพคล่องมาใช้เพิ่มเติม

ดังนั้น จึงต้องคงมุมมองการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อไปอีก ยกเว้นบางช่วงที่ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปกลับมาเป็นข่าว ปัจจัยต่างๆ ของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ความเสี่ยงในการเพิ่มสภาพคล่อง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการขาดดุลการคลัง ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจมีการแข็งค่าได้ในบางช่วงหากปัญหาในยุโรป ทำให้นักลงทุนกังวลและเกิดการไหลของเงินทุนไปยังสินทรัพย์ที่ปลอดภัย (กว่า) อย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น