xs
xsm
sm
md
lg

สยามแก๊สดึงเซ็นจูรี่ สู้ศึกชอปปิ้งประตูน้ำ-เตรียมท้าชนแพลทินัม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เซ็นจูรี่ 21” ปรับแผนบริหารโครงการอสังหาฯ หลังครึ่งปีแรกยอดขายต่ำกว่าเป้า 30% หันเพิ่มพอร์ตรับบริหารศูนย์การค้า ล่าสุด รับโปรเจกต์ยักษ์ของกลุ่มสยามแก๊ส “พาลาเดียม เวิล์ด ชอปปิ้ง” ห้างใหญ่ย่านประตูน้ำ ชูคอนเซ็ปต์เปิดเที่ยงวันยันเที่ยงคืน ท้าชนแพลทินัม และศูนย์การค้าย่านบำรุงเมือง ขณะที่การขายที่ดินเปล่าเฟื้อง ระบุครึ่งปีหลังอสังหาฯยังไม่ฟื้น เหตุราคาที่ดิน ต้นทุนพุ่งสูง ทำคนชะลอซื้อ คาดต้นปี 55 ทิศทางดีขึ้น

นายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นจูรี่ 21 เรียลตี้ แอฟฟิลิเอทล์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีแรกมีการชะลอตัว โดยเฉพาะในช่วงที่มีการหาเสียงก่อนเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน ยอดขายอสังหาฯลดลงถึง 55% เหลือ 170 ล้านบาท จากเป้ายอดขายที่ตั้งไว้ 400 ล้านบาท/เดือน และหากรวมในครึ่งปีแรกยอดขายลดลงประมาณ 30%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ด้านการขายคอนโดมิเนียมจะชะลอตัว แต่สำหรับการซื้อ-ขายที่ดินมีการเติบโตที่ดีมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาด ซึ่งแต่ละรายจะมีวิธีการซื้อที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสินค้าที่ต้องการพัฒนา โดยล่าสุดเจรจาขายที่ดินบริเวณปั๊มน้ำมันย่านเพลินจิตไป 1 แปลง ในราคา 1.5 ล้านบาท/ตร.ม.มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาซื้อขายอีก 1 แปลง ในย่านซีบีดี มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ปัจจุบันสามารถปิดการขายไปแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท และคาดว่า ทั้งปีจะมีถึง 8,000 ล้านบาท ส่วนทั้งปีคาดว่าจะลดลงประมาณ 30% จากปีที่ผ่านมาที่มียอดขาย 17,000 ล้านบาท

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่า สถานการณ์จะยังทรงตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากมีปัจจัยลบจากการปรับขึ้นราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ ซึ่งจะทำให้ราคาที่ดินปรับขึ้นตาม รวมถึงต้นทุนค่าก่อสร้างที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาขายปรับขึ้นสูงตาม ทำให้ผู้บริโภคชะลอซื้อในระยะหนึ่งจึงจะรับได้ ซึ่งคาดว่าในช่วงต้นปีหน้าจะมีแนวโน้มดีขึ้น

จากการชะลอตัวของยอดขายดังกล่าว ทำให้บริษัทปรับแผนการดำเนินงาน หันมาเพิ่มการบริหารการขายพื้นที่ศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์แทน เพราะที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหันมาพัฒนาเพิ่มมากขึ้นตามทำเลที่มีหมู่บ้านจำนวนมาก โดยก่อนหน้านี้ได้รับบริหารพื้นที่ศูนย์การค้าเมก้าเพลย์ มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ภายใต้บริษัท บวรพงษ์ จำกัด ของกลุ่มสยามแก๊ส

ล่าสุด กลุ่มสยามแก๊สได้มอบหมายให้บริหารศูนย์การค้าขนาดใหญ่ “ประตูน้ำเซ็นเตอร์” ที่ทางกลุ่มได้ซื้อหุ้นทั้งหมดจากบริษัท ไท พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) มาเมื่อปี 2553 ในนามบริษัท เกรทไชน่า มิลเลนเมี่ยม (ไทยแลนด์) จำกัด โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “พาลาเดียม เวิลด์ ชอปปิ้ง” ซึ่งเตรียมเปิดตัวในวันที่ 18 สิงหาคม 54 นี้ ภายในโครงการจะประกอบด้วยพื้นที่ศูนย์ค้าส่งเสื้อผ้าขนาดใหญ่ ด้านบนจะพัฒนาเป็นโรงแรมระดับ 4 ดาว 2 อาคาร และอาคารสำนักงานอีก 1 อาคาร พื้นที่รวมกว่า 200,000 ตร.ม.มูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท

และ 3.โครงการคอมเมอร์เชียลมอลล์ ย่านโบ๊เบ๊ ภายใต้ชื่อบีเอ็มพี (เดิมชื่อบำรุงเมือง) มูลค่า 3,000 ล้านบาท โดยจะเปิดตัวในเดือนธันวาคม 54 นี้

“เกรทไชน่า ทุ่มงบการตลาดและการประชาสัมพันธ์กว่า 1,000 ล้านบาท ในการปรับปรุงโฉมของประตูน้ำเซ็นเตอร์ใหม่ แก้ไขข้อบกพร่องที่ทำให้โครงการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ โดยเซ็นจูรี่ 21 เคยทำสำเร็จมาแล้วจากการบริหารโครงการแพลตินั่ม โดยจะชูคอนเซ็ปต์ โฮลเซลล์นอนสตอปชอปปิ้ง เที่ยงวันยันเที่ยงคืน” นายกิติศักดิ์ กล่าว

และสืบเนื่องจากการเข้าบริหารโครงการพาลาเดียม ที่มีพื้นที่ลานจอดรถกว่า 3,000 คัน จึงได้ร่วมทุนกับบริษัท นิปปอน พาร์คกิ้ง เดเวลอปเมนท์ จำกัด (บริษัทบริหารพื้นที่ลานจอดรถขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น) ในนามส่วนตัวด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท โดยตั้งบริษัท สยาม นิปปอน พาร์คกิ้ง เดเวลอปเมนท์ จำกัด เพื่อรับบริหารพื้นที่จอดรถของพาลาเดียม และเตรียมรับบริหารพื้นที่ลานจอดรถในอาคารอื่นด้วย

นอกจากนี้ เซ็นจูรี่ 21 ได้เซ็นสัญญาร่วมมือกับบริษัทด้านอสังหาฯ จากประเทศญี่ปุ่น ชื่อ MARSA โดยการจะนำทรัพย์สิน หรือโครงการด้านอสังหาฯ จากประเทศญี่ปุ่น มานำเสนอให้นักลงทุนชาวไทยที่สนใจซื้อเพื่อการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่อยู่อาศัย โรงแรม และอพาร์ตเมนต์ แม้ว่าตลาดอสังหาฯ ที่ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในสภาวะทรงตัวมาหลายปี แต่ชาวญี่ปุ่นยังคงลงทุนในอาคารชุดอาศัยโดยเฉพาะในกรุงโตเกียวมากขึ้น ด้วยเหตุที่ว่า ยังมีความต้องการสูง สามารถที่จะได้รับผลตอบแทนจากการเก็บค่าเช่าได้สูง โดยไม่มีการจำกัดค่าเช่า อัตราผลตอบแทนอาจอยู่ระหว่าง 5-7% จากการลงทุน แต่ในแง่ของความมั่นคงด้านการลงทุน อสังหาฯถือได้ว่าปลอดภัยมั่นคงเลยทีเดียว อีกทั้งในญี่ปุ่นไม่ได้มีข้อห้ามสำหรับการซื้อของชาวต่างชาติ ดังนั้น แม้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังทรงอยู่ แต่การซื้อขายอาคารชุดก็ยังมีความคึกคักอยู่พอสมควรจากข้อมูล ราคาที่ดินในญี่ปุ่นโดยเฉลี่ย ตกลงประมาณ 3.1% เมื่อเปรียบเทียบกับราคาของปีที่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น