xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยกสิกรฯ คาดที่ประชุม กนง.วันที่ 13 ก.ค.นี้ ปรับขึ้น ดบ.อีก 0.25%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดที่ประชุม กนง.วันพุธที่ 13 ก.ค.นี้ มีแนวโน้มปรับขึ้น ดบ.นโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 3.25% เพื่อดูแลความเสี่ยงเงินเฟ้อ พร้อมประเมินทิศทางครึ่งปีหลัง แนวโน้มเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 นี้ โดยเชื่อว่า กนง.จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีก 0.25% จากระดับ 3.00% มาที่ 3.25% ซึ่งเป็นการประชุมรอบที่ 5 ของปีนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ภายใต้สถานการณ์ที่ความเสี่ยงจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยหลักสำคัญ

ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งของการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากการทยอยฟื้นคืนสู่ระดับปกติของกำลังการผลิตในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงกับซัพพลายเชนในญี่ปุ่น และการบริโภคที่น่าจะเติบโตขึ้น หากการเมืองไทยมีเสถียรภาพ อันจะสนับสนุนให้ กนง.ยังพอมีช่องว่างให้สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับปกติได้อย่างต่อเนื่อง

แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เป็นผลจากปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยแรงส่งการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นหลังจากผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติในญี่ปุ่นคลี่คลายลงและสถานการณ์การเมืองในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น คงจะทำให้การส่งผ่านภาระต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ผลิตในหลายๆ ภาคส่วนมายังผู้บริโภคยังน่าจะสามารถทำได้โดยไม่ลำบากนัก

ขณะเดียวกัน ราคาในหมวดสินค้าอาหารและพลังงานที่ยังมีแนวโน้มยืนในระดับสูงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากสภาพอากาศที่แปรปรวนทั่วโลก และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคของชนชั้นกลางที่มีฐานะดีขึ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ประกอบกับผลของฐานเปรียบเทียบ คงจะทำให้ระดับราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อในประเทศยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่คาดว่า ยังมีโอกาสจะขยับเข้าสู่ 3.0% ซึ่งเป็นขอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3/2554 หลังจากที่ปรับขึ้นมาที่ 2.55% ในเดือนมิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ หากพิจารณาระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของ 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ หักด้วยค่าคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 12 เดือนข้างหน้า) ที่รายงานโดย ธปท.ล่าสุด ในเดือน พ.ค.54 ที่ยังมีค่าติดลบ 1.83% และอาจยังมีแนวโน้มมีค่าติดลบต่อ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งตามความคาดหวังต่อนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ในหลายๆ มาตรการที่มีความเกี่ยวพันกับประเด็นเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศมาที่ 300 บาทต่อวัน (จากค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศที่ 159-221 บาทต่อวัน ณ ปัจจุบัน ขณะที่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ที่ 215 บาทต่อวัน หากมีการปรับขึ้นเป็น 300 บาท จะคิดเป็นอัตราเพิ่มถึงเกือบ 40%)

การขึ้นเงินเดือนข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการยกเว้นการเก็บเงินนำส่งสมทบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเบนซินและดีเซล ที่อาจผลักดันให้การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะข้างหน้าของภาคส่วนต่างๆ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าการดำเนินนโยบายข้างต้นอาจจะยังไม่เกิดขึ้นและปรากฏผลที่ชัดเจนนักในเวลาอันใกล้นี้ก็ตาม

ทั้งนี้ จากการประเมินภาพแนวโน้มเงินเฟ้อ และการให้ความสำคัญกับระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงที่ยังมีค่าติดลบ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า กนง.จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากระดับ 3.00% ไปที่ระดับ 3.25% ในการประชุมวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 นี้

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของสถาบันการเงินนั้น คาดว่าจะทยอยปรับขึ้นเช่นเดียวกัน โดยที่ขนาดและจังหวะเวลาของการปรับขึ้นของแต่ละสถาบันการเงิน จะยังคงขึ้นอยู่กับมุมมองต่อแนวโน้มการขยายสินเชื่อ และการแข่งขันของผู้เล่นทั้งในตลาดสินเชื่อและผลิตภัณฑ์เงินออม เป็นหลัก หลังจากในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามดอกเบี้ยนโยบายด้วยขนาดที่ใกล้เคียงกันและจังหวะเวลาที่ไม่ห่างกันนัก เป็นผลจากการดำเนินธุรกิจหลักอย่างสินเชื่อที่เติบโตในเกณฑ์ดี ภาวะการแข่งขันที่เข้มข้น ตลอดจนการเตรียมการรับมือกับการทยอยลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากของสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 สิงหาคม 2554 นี้

ทั้งนี้ คงจะต้องติดตามการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่มีแนวโน้มจะมุ่งเน้นเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงมีหลายโครงการที่มีความเกี่ยวพันกับระดับราคาสินค้าและเงินเฟ้อในประเทศ ซึ่งในที่สุดแล้วอาจผลักดันให้การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะข้างหน้าของภาคส่วนต่างๆ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมไปถึงอาจจะเพิ่มความกังวลต่อประเด็นด้านเสถียรภาพและแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะกลาง

ขณะที่ปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงของเศรษฐกิจโลก นำโดยสหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาชนจีน อาจมีส่วนช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อหากระดับราคาอาหารและพลังงานไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก อนึ่ง ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศดังกล่าว คงจะเป็นความท้าทายสำหรับการเดินหน้านโยบายการเงินของ กนง.ในการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 24 สิงหาคม 2554 อย่างยากจะหลีกเลี่ยง
กำลังโหลดความคิดเห็น