ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดที่ประชุม กนง.วันที่ 20 เม.ย.นี้ อาจปรับขึ้น ดบ.อีก 0.25% เผย ความเสี่ยงเงินเฟ้อยังมีน้ำหนัก
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผย รายงานทิศทางตลาดเงินในประเทศ โดยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) ระยะเวลา 1 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอีก 0.25% จากเดิม 2.50% มาที่ 2.75% ในการประชุมรอบที่ 3 ของปีในวันที่ 20 เมษายน 2554 เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม หลังจากที่ กนง.ได้เริ่มวงจรขาขึ้นรอบนี้มาตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2553
ทั้งนี้ ประเมินว่า ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากแรงผลักทั้งด้านอุปทาน อุปสงค์ และการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้า ยิ่งถ้าระดับราคาสินค้าหลายรายการทยอยปรับตัวสูงขึ้น พร้อมๆ กับราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังรักษาระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ก็มีโอกาสค่อนข้างมากที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะไต่ระดับเข้าหา 5.0% ในช่วงครึ่งหลังของปี เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่ง กนง.ใช้เป็นมาตรวัดในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ที่อาจขยับเข้าหา 3.0% ในช่วงปลายไตรมาส 3 และต่อเนื่องถึงไตรมาสสุดท้ายของปี
ในขณะที่ แม้ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะยกระดับเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2/2554 ที่หลากหลายปัจจัยเสี่ยง ทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเหตุภัยพิบัติในญี่ปุ่น ความไม่สงบในภูมิภาคอาหรับ รวมถึงภาวะอุทกภัยและการเมืองในประเทศ คงมีผลกดดันให้จีดีพีของไทยมีแนวโน้มขยายตัวช้าลงจากไตรมาสแรก ซึ่งยังไม่ได้รับผลกระทบที่ชัดเจนมากนักจากปัจจัยลบเหล่านั้น
อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังมีแรงส่งของการขยายตัวได้ โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกตามการเติบโตของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก และผลด้านราคาที่ยืนระดับสูง รวมทั้งการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้เศรษฐกิจจะมีความเสี่ยงในช่วงขาลงมากขึ้น แต่ก็น่าที่จะยังสามารถรักษาการเติบโตไว้ได้ในกรอบ 3.0-4.0%
ดังนั้น กนง.จึงน่าจะยังจำเป็นต้องให้น้ำหนักกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งก็น่าจะช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ และน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการยืนอัตราดอกเบี้ย ณ ขณะนี้ แล้วต้องไปเร่งปรับขึ้นแรงในอนาคต
ดังนั้น การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการยืนอัตราดอกเบี้ย ณ ขณะนี้ แล้วจำเป็นต้องไปเร่งปรับขึ้นแรงในอนาคต ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าว ยังเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับธนาคารกลางหลักส่วนใหญ่ในโลกที่ล้วนเผชิญกับโจทย์ด้านเงินเฟ้อในลักษณะเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า รายงานการประชุม กนง.ที่มีกำหนดจะเผยแพร่ในอีก 2 สัปดาห์ถัดจากวันประชุม หรือเผยแพร่ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2554 นั้น นอกจากการประเมินน้ำหนักความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมแล้ว อาจสะท้อนถึงการแสดงความกังวลที่มีมากขึ้นต่อประเด็นภาวะเงินเฟ้อ โดย กนง.อาจมีการหารือกันเข้มข้นมากขึ้นในข้อเสนอให้พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 0.25% ถึงแม้จะยังคาดว่า มติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% น่าจะออกมาด้วยเสียงที่เป็นเอกฉันท์
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คงจะนำมาสู่การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งขนาดและจังหวะของการปรับขึ้นของแต่ละธนาคาร จะขึ้นอยู่กับมุมมองที่มีต่อแนวโน้มการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการขยายสินเชื่อ ตลอดจนสภาวะการแข่งขันทั้งในตลาดสินเชื่อและเงินออม ว่า มีความเข้มข้นมากน้อยเพียงใด โดยประเมินว่า อาจจะเห็นการแข่งขันกันนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเป็นช่วงๆ หรือมีทั้งจังหวะที่แข่งขันแรงและจังหวะที่ผ่อนลงสลับกันไป และแน่นอนว่าความต้องการสินค้าในหมวดที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยคงจะได้รับผลกระทบ ขณะที่ ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายน่าจะเป็นผลดีในการตอบโจทย์ให้กับผู้ออมเงิน