ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เพื่อคุมความเสี่ยงเงินเฟ้อ ขณะที่ เชื่อ “แบงก์พาณิชย์” รับลูก ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้ง 2 ขา ไม่ว่าจะเป็นประเภทฝากประจำ หรือเงินกู้
วันนี้ (7 มี.ค.) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย อีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.25 มาที่ร้อยละ 2.50 ในการประชุมรอบที่ 2 ของปีในวันที่ 9 มีนาคม 2554 นี้ เพื่อดูแลความเสี่ยงเงินเฟ้อ ท่ามกลางสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงยังคงมีค่าติดลบ
“มติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 เป็นสิ่งที่ตลาดการเงินรับรู้และคาดหมายกันไว้ล่วงหน้าแล้วพอสมควร เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยเฉพาะประเภทอายุสั้น ที่ปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 20 จุด (basis points) นับจากการประชุมรอบก่อน”
ทั้งนี้ การปรับตัวของตลาดนับจากนี้ นอกจากจะขึ้นกับผลการประชุมแล้ว คงจะอยู่ที่การส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง.ว่า จะมีความต่อเนื่องมากน้อยเพียงใด รวมทั้งขึ้นอยู่กับพัฒนาการเครื่องชี้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าความคืบหน้าของสถานการณ์ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือที่จะมีผลต่อราคาน้ำมันและเศรษฐกิจโลก นโยบายด้านพลังงานของทางการไทย และประเด็นการเมืองในประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์นั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในที่สุดแล้วคงจะนำมาสู่การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ โดยขนาดและจังหวะของการปรับขึ้น คงจะขึ้นอยู่กับมุมมองของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งที่มีต่อแนวโน้มการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะการขยายสินเชื่อในระยะข้างหน้า ตลอดจนความเข้มข้นของการแข่งขันระหว่างธนาคารด้วยกันเองและคู่แข่งอื่น
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า ยังมีโอกาสที่จะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินกู้ทั้งกระดาน รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์เงินออมพิเศษที่ให้ผลตอบแทนจูงใจจากธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว น่าที่จะเอื้อให้ผู้ออมมีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลายและตอบโจทย์ได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความต้องการสินเชื่อในสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย อาทิ สินค้าคงทนบางรายการ ซึ่งผู้กู้อาจชะลอการตัดสินใจซื้อออกไปตามสถานการณ์และความจำเป็นของตน