xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาด! บอร์ด กนง.มีมติขึ้น ดบ.นโยบาย 0.25% เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บอร์ด กนง.มีมติขึ้น ดบ.นโยบาย 0.25% จากระดับ 2.50% เพิ่มเป็น 2.75% ด้วยมติ 6 ต่อ 1 โดยให้มีผลทันที เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ หลังพบ ศก.ไตรมาสแรก ยังไปได้สวย ยืนยันติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (ดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร อาร์/พี ระยะเวลา 1 วัน) ร้อยละ 0.25 จากเดิมร้อยละ 2.50 เพิ่มเป็นร้อยละ 2.75 ด้วยมติ 6 ต่อ 1 โดยให้มีผลในทันที และจะติดตามแนวโน้มแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสม

“บอร์ด กนง.จะติดตามแนวโน้มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสม เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีมากขึ้นจากการขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าได้ง่ายขึ้น”

สอดคล้องกับการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ยังปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง และการทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทางการจะเป็นปัจจัยเพิ่มเติมให้แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูงในระยะต่อไป

วันนี้ ที่ประชุม กนง.ได้นำผลจากการนำมาตรการภาษีมาใช้ตรึงราคาดีเซลต่อไปเข้าสู่การพิจารณาในครั้งนี้ด้วย แต่มองว่าจะมีผลชะลอการเร่งตัวของเงินเฟ้อในระยะสั้นเท่านั้น โดยการประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ายังให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจมากกว่า

“มาตรการนี้ทำให้เงินเฟ้อลดลงเฉพาะวิธีการคำนวณ แต่ด้านนโยบายการเงินต้องนำผลจริงของเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และการคาดกาณ์เงินเฟ้อล่วงหน้าของภาคเอกชนมาพิจารณา ซึ่งธปท.ส่งสัญญาณตลอดว่าจะหยุดการคาดการณ์ ซึ่งเอกชนมองว่าเงินเฟ้อจะพุ่งไปที่ 3.7% ได้ไม่ยากนัก”

นอกจากนั้น ในที่ประชุมยังมีการแสดงความคิดเห็นกันว่า หากมีการยุติตรึงราคาน้ำมันและสินค้าบางรายการจะทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอย่างมาก และอัตราจะมีความผันผวน ในระยะต่อจากนี้ 6 เดือนราคาสินค้าและเงินเฟ้อจะสูงขึ้นมาก แต่ก็ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันโลกในขณะนั้นด้วย

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่เร่งตัวขึ้นในขณะนี้ส่วนใหญ่เกิดจากกำลังซื้อในโลกที่ยังสูง โดยเฉพาะจากประเทศเกิดใหม่ทั้งจีนและเอเชีย รวมถึงราคาอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ด้วย แต่ปัญหาเหล่านี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มากนัก และสาเหตุอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ในตะวันออกกลางจะมีผลกระทบกับราคาน้ำมัน จึงทำให้ราคาน้ำมันสูงกว่าปัจจัยพื้นฐานอย่างมาก

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก กนง.เห็นว่า ยังขยายตัวได้ดี จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยสินเชื่อภาคธุรกิจเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ภัยพพิบัติในญี่ปุ่นคาดว่าจะส่งผลให้การผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็คทรอนิคส์ชะลอตัวลงบ้าง ขณะที่ผลกระทบจากอุทกภัยในภาคใต้อยู่ในวงจำกัด

โดยในระยะต่อไป คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะยังมีแรงส่งที่ดี การผลิตจะเร่งขึ้นได้ภายหลังปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบจากญี่ปุ่นคลี่คลายลง และสามารถตอบสนองอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่มีอยู่ต่อเนื่อง

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ธปท.มองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ไม่ได้กระทบกับเงินทุนไหลเข้า-ออกมากนัก เพราะพูดอยู่เสมอว่าภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในปีนี้จะมีทั้งการไหลเข้าและไหลออก เคลื่อนไหวในลักษณะ 2 ทิศทางมากขึ้น และธปท.ยังคงติดตามอยู่

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% จะเข้าใกล้อัตราปกติหรือไม่นั้น คงต้องเทียบกับภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อด้วย ดังนั้นทิศทางดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้นอยู่ เพราะขณะนี้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง -1% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR) ที่แท้จริง +2.9% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (12 เดือน) ที่แท้จริง -1.8%
กำลังโหลดความคิดเห็น