xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์ปรับเพิ่มประมาณการ ศก.ไทย เตือนอุ้มดีเซลใช้ทรัพยากรไร้คุณค่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธนาคารโลก ปรับเพิ่มประมาณการ ศก.ไทยปี 54 ขยายตัวได้ 3.7% โดยมีแรงหนุนจากราคาสินค้าเกษตร และการบริโภคในประเทศ แม้จะมีปัจจัยลบจาก ราคาอาหาร-พลังงาน พร้อมเตือนการใช้นโยบายตรึงดีเซล 30 บาท แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทำให้การใช้พลังงานไม่มีประสิทธิภาพ-สร้างภาระในอนาคต แนะรัฐควรนำงบประมาณซึ่งมีอยู่จำกัดไปใช้ในโครงการช่วยเหลือประชากรที่เปราะบางที่สุดโดยตรง น่าจะเป็นวิธีที่ได้ผลกว่าการอุดหนุนราคาน้ำมันที่ใช้ทรัพยากรจำนวนมาก

นายเฟรดเดริโก้ จิล แซนเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2554 ใหม่ เป็นขยายตัวร้อยละ 3.7 จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.2 เมื่อช่วงปลายปี 2553 ซึ่งสาเหตุที่ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีของไทย แม้ราคาอาหารและน้ำมันของโลกจะยังทรงตัวในระดับสูงในปีนี้ แต่เนื่องจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยไม่ได้พึ่งพาเฉพาะการส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่มาจากพื้นฐานของความต้องการของภายในและต่างประเทศ ซึ่งการที่ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวระดับสูงจะช่วยให้รายได้ของชาวไร่ชาวนาดีขึ้น และผลักดันการบริโภคในประเทศให้ขยายตัวต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจไทยยังมีสูง ไม่ว่าเป็นราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอีกหากสถานการณ์ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อหนี้สาธารณะของยุโรปและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอเมริกา รวมทั้งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชน ของอุตสาหกรรมยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์ อันเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น

ส่วนเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ ทางธนาคารโลกยังไม่ได้นำมาประเมินต่อผลกระทบต่อการขยายตัวของจีดีพี แต่ยอมรับว่าจะกระทบต่อการผลิตภาคการเกษตร และการท่องเที่ยวของไทย แต่หากบูรณะได้เร็วผลกระทบก็จะน้อยลง

นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก กล่าวว่าการควบคุมราคาดีเซล และการที่มูลค่าสินค้าส่งออกของไทยที่ถีบตัวสูงขึ้นตามตลาดโลก ทำให้เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะที่ราคาอาหารและราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นมากในต้นปี 2554 แต่หากน้ำมันยังพุ่งสูงไม่หยุดจะเกิดผลกระทบต่อประชากรทั้งประเทศ และวิธีที่จะช่วยลดผลกระทบ คือ รัฐบาลควรนำงบประมาณซึ่งมีอยู่จำกัดไปใช้ในโครงการช่วยเหลือประชากรที่เปราะบางที่สุดโดยตรง น่าจะเป็นวิธีที่ได้ผลกว่าการอุดหนุนราคาน้ำมันที่ใช้ทรัพยากรจำนวนมาก

ขณะเดียวกันการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จำเป็นจะต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการลดแรงเสียดทานจากภาวะเงินเฟ้อและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ยังอยู่ในขั้นฟื้นตัว ส่วนในระยะยาวควรส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ จะช่วยให้ไทยสามารถบริหารความเสี่ยงจากวิกฤตราคาน้ำมันโลก และควรเน้นการพัฒนาการผลิตอาหารให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนอาหารในอนาคตที่โลกมีความเสี่ยงเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงท่ามกลางประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น

“รัฐควรปรับนโยบายการอุดหนุนดีเซล ทำให้เกิดการใช้พลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลให้เหตุผลว่าเพื่อปกป้องคนมีรายได้ต่ำไม่ให้ได้รับผลกระทบ หากเป็นชั้นนั้นก็ควรจะกำหนดนำโยบายช่วยเฉพาะคนมีรายได้ต่ำซึ่งมีประมาณร้อยละ 10-20 ของประชากรเท่านั้น ไม่ใช่อุดหนุนหว่านไปหมดเช่นในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม กรณีการยกเลิกอุดหนุนก็ไม่ควรทำทันทีจะต้องทยอยเลิก เพราะไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อพลวัตรเงินเฟ้อ”

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก ยังได้เปรียบเทียบนโยบายเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และรัฐบาล “ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งมองว่านโยบายการดูแลสินค้าเกษตรของรัฐบาลปัจจุบันดีกว่า เพราะผลประโยชน์ตกถึงมือเกษตรกรมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น