xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์หวั่นศก.โลกหวนสู่ปี2008 เติบโตชะตัว-น้ำมันและอาหารพุ่งลิ่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - ธนาคารโลกออกรายงานเตือนเมื่อวันพุธ(12) ระบุเศรษฐกิจโลกเวลานี้มีความเสี่ยงที่อาจจะหวนกลับไปสู่วันเวลาแห่งความมืดมนเหมือนในช่วงวิกฤตในปี 2008 โดยที่อัตราเติบโตกำลังชะลอตัว ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและอาหาร กลับกำลังขยับขึ้นสูง

ในรายงาน “ทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลก” (Global Economic Prospects) ฉบับล่าสุด ธนาคารโลกคาดหมายว่า หลังจากที่ในปี 2009 เป็นช่วงเวลาซึ่งเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก จากนั้นในปี 2010 ก็เป็นปีแห่งการดีดตัวกลับกระเตื้องขึ้น ทว่าปี 2011 คาดหมายว่าจะเป็นปีแห่งการลดความเร็วลง

ทั้งนี้ในรายงานฉบับใหม่เอี่ยมดังกล่าวนี้ เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกจะเติบโตในอัตรา 3.3% ภายหลังจากทำได้ 3.9% ในปี 2010 โดยที่พวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนา ในปี 2011 นี้จะมีการขยายตัวได้ 6.0% ต่ำลงจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 7.0% แต่กระนั้นก็ยังเป็นกว่าสองเท่าตัวของอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจในหมู่ประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งธนาคารโลกทำนายว่าปีนี้จะอยู่ในระดับ 2.4% ชะลอตัวลงจากปี 2010 ที่อยู่ที่ 2.8%

อย่างไรก็ตาม รายงานนี้ของเวิลด์แบงก์มองว่า อัตราการเติบโตทั้งในพวกประเทศรายได้สูงและพวกประเทศกำลังพัฒนา น่าจะขยับไต่สูงขึ้นโดยทั่วหน้าตั้งแต่ช่วงกลางปี 2011 และ “ปักหลักอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับศักยภาพในระยะยาวของพวกเขา”

สำหรับปี 2012 ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า อัตราเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกจะขยับสูงขึ้นไปอยู่ที่ 3.6% จากการที่พวกประเทศรายได้สูงน่าจะขยายตัวในระดับ 2.7% ส่วนพวกประเทศกำลังพัฒนาจะไต่สูงขึ้นจากปี 2011 นิดเดียว โดยจะอยู่ที่ 6.1%

รายงานของธนาคารโลกเตือนว่า ฝีก้าวของอัตราเติบโตขยายตัวดังกล่าวเหล่านี้โดยองค์รวม ยังคงอ่อนแอเกินกว่าจะก่อให้เกิดพลังฉุดลากอันเข้มแข็งที่จะทำให้เกิดการฟื้นตัวที่มีความหนักแน่นมั่นคง

“โชคร้ายที่อัตราเติบโตเหล่านี้ยังไม่น่าที่จะรวดเร็วเพียงพอจนสามารถตัดลดการว่างงานและการชะลอตัวในระบบเศรษฐกิจและในภาคส่วนเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาหนักหน่วงที่สุดได้” ยิ่งกว่านั้น “ในเศรษฐกิจโลกยังคงมีความตึงเครียดและกับดักหลุมพรางอันร้ายแรง ซึ่งในระยะสั้นอาจทำให้ภาวะฟื้นตัวเกิดการตกรางในระดับต่างๆ หลายหลาก”

เวิลด์แบงก์แจกแจงว่า ความตึงเครียดและกับดักอันตรายดังกล่าว ได้แก่ วิกฤตตลาดการเงินของเขตยูโรโซน, สภาพกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าไหลออกอย่างวูบวาบ, และการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์กำลังเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งราคาอาหารและเชื้อเพลิง

รายงานฉบับนี้แสดงความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่กำลังขยับสูง โดยเฉพาะอาหารและเชื้อเพลิง ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว และอุปสงค์ที่หนักแน่นเข้มแข็งในพวกประเทศตลาดเกิดใหม่

“ถึงแม้ราคาอาหารที่แท้จริงในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นมากถึงระดับปริมาณวัดคำนวณกันด้วยค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯก็จริง แต่มันก็พุ่งสูงขึ้นไปอย่างแรงทีเดียวในประเทศยากจนบางแห่ง” รายงานของธนาคารโลกระบุ “และถ้าราคาระหว่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป ประเด็นปัญหาเรื่องความสามารถในการจัดซื้อจัดหา ตลอดจนผลกระทบต่างๆ ต่อภาวะยากจน ก็อาจจะยิ่งเข้มข้นขึ้นไปอีก”

“เรากำลังเป็นกังวลมากเกี่ยวกับการขยับขึ้นไปของราคาอาหาร … เรามองเห็นความคล้ายคลึงกันบางประการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2008 ไม่นานก่อนที่จะเกิดวิกฤตภาคการเงิน” ฮันส์ ทิมเมอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายทิศทางแนวโน้มในการพัฒนา ของเวิลด์แบงก์ กล่าวระหว่างการแถลงเปิดตัวรายงานฉบับนี้ที่กรุงวอชิงตัน

ทั้งนี้ในปี 2008 ราคาน้ำมันได้ทะยานขึ้นไปเหนือระดับ 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนกรกฎาคม ก่อนที่จะดำดิ่งลงมาเหลือแค่ใกล้ๆ 30 ดอลลาร์ในอีก 6 เดือนถัดมา โดยที่วิกฤตภาคการเงินซึ่งจุดชนวนด้วยการล้มละลายของวาณิชธนกิจ เลห์แมนบราเธอร์ส เกิดขึ้นในเดือนกันยายน

สำหรับในเวลานี้ น้ำมันดิบในตลาดนิวยอร์กอยู่แถวๆ 92 ดอลลาร์ ซึ่งยังสูงกว่าระดับราคาเฉลี่ยสำหรับปี 2011 ที่เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 85 ดอลลาร์ โดยที่ระดับดังกล่าวนี้ก็ปรับขึ้นจากเมื่อปี 2010 ซึ่งให้ไว้ที่ 79 ดอลลาร์

กระนั้นก็ตาม รายงานของเวิลด์แบงก์เห็นว่า ภาพเหตุการณ์ของปี 2008 ซึ่งราคาอาหารและน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างแรง ขณะที่อัตราเติบโตของเศรษฐกิจกำลังชะลอตัว จนโลกอยู่ในสภาพ “stagflation” นั่นคือเศรษฐกิจชะงักงันแต่ก็เจอปัญหาเงินเฟ้อไปพร้อมกันนั้น ไม่น่าที่จะเกิดซ้ำอีกในปีนี้ ตราบเท่าที่อุปทาน (ซัปพลาย) ยังคงเดินไปตามจังหวะของอุปสงค์ (ดีมานด์)

ทิมเมอร์ชี้ว่า สถานการณ์ในเวลานี้ยังแตกต่างจากในปี 2008 อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในตลาดธัญญาหาร เพราะขณะที่ตอนนั้นสต็อกธัญญาหารของโลกตึงตัว แต่เวลานี้ยังมีธัญญาหารอยู่ในสต็อกทั่วโลกมากกว่าตอนนั้นเยอะ ดังนั้นตลาดจึงอยู่ในสภาพที่แตกต่างไปตามแต่ละท้องถิ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น